๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๙: บทความรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย: ตอนที่ ๓

บทความรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย
๒๑ พฤฎศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๙
ตอนที่ ๓: ประทับใจกับโครงการวาดภาพด้วยกาแฟเพื่อบริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศล ซึ่งถือว่าเป็นการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับกิจกรรมเพื่อสังคม ระหว่าง พ.ศ.๒๕๕๔- ๒๕๕๕

ก่อนน้ำท่วมใหญ่ปลายปี พ.ศ.๒๕๕๔ ผมได้ทำกิจกรรม ๓ กิจกรรมหลักๆ คือ  ๑.) กิจกรรมวาดภาพด้วยกาแฟบริจาคให้มูลนิธิและสมาคมต่างๆ  ๒.) กิจกรรมทำความดีถวายในหลางด้วยการร่วมกันกับคนพิการวาดภาพถวายและมีการจัดกิจกรรมออกร้านจำหน่ายสินค้าฝีมือคนพิการ และ  ๓.) กิจกรรมสอนวิชาความรู้ด้านคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตพื้นฐานให้กับคนพิการและผู้สูงอายุ สำหรับบทความตอนนี้ผมขอกิจกรรมวาดภาพด้วยกาแฟที่บริจาคให้องค์กรการกุศล ซึ่งเป็นอีกกิจกรรมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิตของผมก็ว่าได้ จึงอยากนำมาแบ่งปันให้ได้อ่านกันถึงอานิสงส์แห่งผลบุญนี้ ครับ

เริ่มจากผมมีความต้องการช่วยเหลือผู้อื่น จากการเห็นความเดือนร้อนจากอุทกภัยใหญ่เมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๕๓ แต่เพราะเป็นคนพิการรุนแรงนอนบนเตียงลมอยู่ที่บ้าน อยากช่วยผู้อื่น แต่พิการรุนแรงจะมีความสามารถทำประโยชน์อะไรได้ เคยคิดว่าหากยุคนี้ไม่ใช่ยุคที่ใช้คอมพิวเตอร์ ไม่มีไอที ไม่มีอินเตอร์เน็ต ผมคงทำมาหากินได้เพียงแค่วาดภาพขายหาเลี้ยงชีพแน่นอน ดังนั้น จึงตัดสินใจวาดภาพด้วยกาแฟเพื่อบริจาคให้องค์กรการกุศลต่างๆ จากนั้นก็ทำเว็บประชาสัมพันธ์จนได้รับการติดต่อให้ไปแสดงนิทรรศการภาพวาดที่ตลาดบองมาเช่ ทำให้ผมดีใจอย่างมาก และรับรู้ได้ถึงอานิสงส์แห่งบุญ ที่เรามีความตั้งใจอย่างแรงกล้า

ที่ตลาดบองมาเช่ ผมได้พบเจอผู้คนมากมาย ที่ใจบุญ ร่วมกันซื้อภาพเพื่อบริจาค อีกทั้งผมยังได้มีโอกาสร่วมบุญกับมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ที่มีท่านอาจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ที่ได้นำภาพวาดด้วยกาแฟไปออกรายการประมูลภาพในงานบุญประจำปีของมูลนิธิฯ ที่ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ และมีภาพที่มีผู้ใจบุญให้ราคาสูงถึง 100,000 บาท กับภาพ “ทรงพระเมตตา”


“ภาพทรงพระเมตตา” ใช้เวลาวาดประมาณ 5 ชั่วโมง แก้ไขบริเวณพระพักตร์ถึง 3 ชั่วโมง

“สำหรับผมแล้วกับภาพทรงพระเมตตา ผมมีความรู้สึกสำคัญ 2 ความรู้สึก ความรู้สึกแรก ผมยังจำได้ว่า ผมอยากพิสูจน์ว่า ตัวผมเองไม่มีเงิน ทรัพย์สินใดๆ แต่ผมอยากช่วยผู้อื่น ผมควรทำอย่างไร หลังจากไตร่ตรองดีแล้ว การวาดภาพด้วยกาแฟครั้งแรกในชีวิตก็เกิดขึ้น ความสามารถเท่านั้นที่จะเปลี่ยนเป็นแรงปราถนาที่ต้องการช่วยผู้อื่น “ความพอเพียง” ผุดเข้ามาในสมองแบบต่อเนื่อง พอเพียงด้วยสติปัญญาและความสามารถ อีกความรู้สึกที่ก่อนจะวาดภาพเสร็จสิ้นนั้น ผมต้องใช้ความพยายามถึง 5 ครั้งในการวาดพระพักตร์ของในหลวง (รัชกาลที่ 9) เสร็จตอนประมาณตี 4 พอดี เพื่อนำภาพทรงพระเมตตา ไปเป็นภาพหลักในการประมูลระดมเงินช่วยเหลือเด็กพิการของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ จึงเป็นการแสดงถึง “ความเพียร” ในการมุ่งมั่นทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือการงานให้ลุล่วงตามพระบรมราโชวาท

อันเชิญพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้าน “ความพอเพียง” และ “ความเพียร” มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ผมขอนำมาแบ่งปันผู้อ่าน ดังนี้ครับ

"….. อันนี้ก็ความหมายอีกอย่างของเศรษฐกิจ หรือ ระบบพอเพียง เมื่อปีที่แล้วตอนที่พูดพอเพียง แปลในใจ แล้วก็ได้พูดออกมาด้วย ว่าจะแปลเป็น SELF-SUF-FICIENCY (พึ่งตนเองถึงได้บอกว่าพอเพียงแก่ตนเอง แต่ความจริงเศรษฐกิจพอเพียงนี้กว้างขวางกว่า SELF-SUFFICIENCY คือSELF-SUFFICIENCYนั้น หมายความว่า ผลิตอะไร มีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง (พึ่งตนเอง)....."
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541  


“...การทำงานใด ๆไม่ว่าเล็ก ใหญ่ ง่าย ยาก ถ้าย่อหย่อนจากความเพียรแล้ว ยากที่จะให้สำเร็จเรียบร้อยทันเวลาได้ การฝึกฝนความเพียร ถึงหากแรก จะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยลำบาก   แต่พอได้เพียรจนเป็นนิสัยแล้ว ก็จะกลับเป็นพลัง อย่างสำคัญที่คอยกระตุ้นเตือนให้ทำงานอย่างจริงจัง ด้วยใจร่าเริง...
พระบรมราโชวาท ๒๑ มิถุนายน ๒๕๒๒

การทำสิ่งใหม่ การที่ต้องต่อสู้กับแรงเสียดทานที่เราทำนั้น ผมมีกำลังใจเต็มเปี่ยม และผมมีตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมจากการทรงงานอย่างหนักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น ไม่ว่าผมจะพบเจออุปสรรคใดๆ ในชีวิต จึงเป็นเรื่องเล็กน้อย และเป็นธรรมดา ไม่น่าตระหนกใดๆ

ผมขอขอบพระคุณบุพการี ครอบครัว คนรอบข้าง ที่เกื้อหนุนให้คนพิการรุนแรงอย่างผมมีความพร้อมที่จะทำงาน ขอบพระคุณครูบาอาจารย์ ผู้เกี่ยวข้องที่ได้ให้ประสบการณ์และสอนวิชาการต่างๆ และผมสำนึกในพระเมตตาที่ได้พระราชทานหลักปฏิบัติต่างๆ ไว้ให้คนไทยทั้งประเทศ

ขอน้อมเกล้าฯ ถวายอาลัย ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า นายปรีดา ลิ้มนนทกุล

อ้างอิงข้อมูลประกอบการเขียนบทความ
๑.      การใช้ถ้อยคำแสดงความอาลัยในกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสู่สวรรคต, เว็บไซต์ http://themomentum.co/momentum-feature-thai-royal-language, เมื่อ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙
๒.      พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท, เว็บไซต์ https://sites.google.com/site/ningzaonline3/kh-wikheraah-phra-rach-daras-phra-rach-krniykic/phra-rach-daras-dan-sersthkic-phx-pheiyng, เมื่อ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙
๓.      พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท, เว็บไซต์ http://suffeco.212cafe.com/archive/2009-12-15/selfsufficiency-selfsufficiency-of-economy-sufficiency-www-dld-go-thtrcrcriagricultureindex-htm 
๔.      เครดิตวีดีโอจาก Youtube, ลิงก์ https://www.youtube.com/watch?v=FGTQHbwZRvk และช่อง ๑๑ สสท. กรมประชาสัมพันธ์

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
๑.      ข้อมูลส่วนตัวของผู้เขียน นายปรีดา ลิ้มนนทกุล, เว็บไซต์http://preedatracking.blogspot.com/, เมื่อ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙

๒.      ข้อมูลบริษัท พีดับบลิวดี เอาท์ซอส เมเนจเมนท์ จำกัด, เว็บไซต์http://pwdoutsourcemanagement.blogspot.com/, เมื่อ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙