๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐: บทความรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย: ตอนที่ ๕

บทความรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย
๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐
ตอนที่ ๕: ในหลวงเป็นต้นแบบแทบทุกเรื่องในการใช้ชีวิตและการทำงาน หรือแม้แตการช่วยเหลือผู้อื่น ทรงงานหนักและงานนั้นล้วนแต่เป็นการช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากทั้งสิ้น การเสด็จประพาส เพื่อเยี่ยมเยียนทุกคน ดั่งคำว่า ไม่มีที่ใดในประเทศไทยที่พระองค์ไม่เคยเสด็จ กำลังจะกลายเป็นแนวทางปฏิบัติใหม่สำหรับชาวบ้านตาดำๆ ในการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม

จากความรู้สึกที่ประเทศไทยได้สูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ผ่านไปครบ ๑ ปี ผมคิดเอาเอง และเชื่อมั่นว่าคนส่วนใหญ่คิดไม่ต่างกับผม เราทุกคนกลับคิดว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ไม่ได้จากพวกเราไป เนื่องจากหากเราคิดให้ถี่ถ้วนจะพบว่า ในหลวงของเราอยู่ทุกหนแห่ง พระองค์ท่านอยู่ในหนังสือมากมาย พระองค์ให้พระราชดำรัส พระบรมราโชวาทจำนวนมากเอาไว้ พระองค์ทรงดำริทำโครงการไว้ถึง ๔,๐๐๐ โครงการ ความประทับใจที่ในหลวงมีต่อผู้คนที่ได้เคยพบปะพูดคุยจนชั่วลูกชั่วหลาน ทรงเสด็จไปทุกหนแห่งในประเทศไทย ในหลวงอยู่รอบๆ ตัวเราตลอดเวลา ท่านทรงคอยให้แนวทาง ให้ความคิดกับพวกเรา คอยกระตุ้นเตือนพวกเรา อยู่ตลอดเวลาตราบนานเท่านาน

ครบ ๑ ปี ในฐานะที่เป็นบล็อกเกอร์ ผมต้องพิมพ์บทความ แต่ยังรู้สึกว่ายังไม่สามารถพิมพ์ได้ตั้งแต่เช้า คืนวันที่ ๑๒ ตุลาคม ถึงตี ๕ ครึ่ง เช้าวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๐ เป็นอีกคืนที่ผมนั่งดูสารคดีของช่องทีวีต่างๆ จนถึงรายการทำวัตรเช้าของทางทรูวิชั่น จนเผลอหลับไป ภรรยาลงมาหมุนเตียงให้ผมนอน ตื่นมาทานอาหารเช้า แล้วเราก็นั่งพูดคุยกันเรื่องในหลวงรัชกาลที่ ๙ ภรรยา (นางสาวชนัญชิดา ลิ้มนนทกุล) ก็เอ่ยถึง การเสด็จเยี่ยมประชาชนของในหลวง สามารถช่วยเหลือชาวเลราไวย์ ที่จังหวัดภูเก็ตได้ ให้รอดพ้นจากมือนายทุน ศาลสั่งยกฟ้อง เพราะภาพถ่ายและวีดีโอของสำนักพระราชวัง ทำให้มีหลักฐานปรากฎชัดเจนว่า ชาวเลราไวย์ อยูบริเวณนั้นมาช้านาน เพราะในหลวงเสด็จไปนั้นก็ปี พ.ศ.๒๕๐๒ นานเพียงพอที่จะลบล้างหลักฐานเหตุผลของฝ่ายนายทุนว่าชาวเลราไวย์ พึ่งมารุกพื้นที่โฉนดของพวกนายทุน ผมจึงขอแบ่งปันคลิปภาพข่าวเมื่อต้นปี มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐ มาแบ่งปันนะครับ 

เครดิตจาก Youtube: https://www.youtube.com/watch?v=NVQn_1wnns0
ความรู้สึกตื้นตันของชาวบ้าน (นายนิรันดร์หยังปาน) ความรู้ด้านกฎหมายจาก ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัยพื้นที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล (พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง) และความรู้ด้านประวัติศาสตร์จาก ดร.นฤมล อรุโณทัย (นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ)

ผมอยากให้ผู้อ่านลองดูข่าวนี้จนจบ ท่านจะได้รับสาระอย่างมาก มีทั้งความเป็นมา กลุ่มบุคคลที่คอยช่วยเหลือชาวบ้าน ความรู้สึก และความรู้ทางประวัติศาสตร์ ผมขอยกบางส่วนเล่าให้ฟัง ชาวเล 3 ชนเผ่านั้นอยู่กระจัดกระจายตามริมทะเลของฝั่งตะวันตกของประเทศหรือฝั่งอันดามัน มีบันทึกการอยู่อาศัยการมีตัวตนของชาวเลในเขตราชอาณาจักรไทยมากกว่า ๓๐๐ ปี จากบันทึกของชาวต่างชาติ จนถึงยุคล่าอาณานิคม การปักปันเขตแดน การแบ่งพื้นที่ของแต่ละรัฐ แต่ละประเทศ รวมถึงเกาะแก่งต่างๆ ในทะเล ซึ่งส่งผลต่ออาณาเขตทางทะเลที่จะถูกยืดระยะทางออกไป กลายเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นชาวเลราไวย์ จึงเป็นอีกกกลุ่มประชากรหนึ่ง ที่ทำให้แผนที่ประเทศไทยยังคงเป็นอยู่จนถึงทุกวันนี้ จากการบริหารจัดการเพื่อปกปักษ์รักษาอาณาเขตประเทศไทยของพ่อหลวงรัชกาลที่ ๕ 

คุณค่าของความเเป็นมนุษย์นั้นมีความสำคัญที่สุด ส่วนตัวผมยังคงยืนยันว่า ความเป็นมนุษย์นั้น ประเมินค่าไม่ได้ หากประเทศใดสามารถที่จะบริหารจัดการประชากรของตนเองได้ดีที่สุดเท่าไหร่ ประเทศนั้นจะมั่นคงทุกด้าน การให้สติปัญญา และความเป็นธรรมนั้น ทุกประเทศสมควรลงทุนให้กับประชากรของตนเอง ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมนั้น จะลดลงเรื่อยๆ หากผู้นำประเทศใช้ความพยายามอย่างมากที่สุดที่จะให้คนในประเทศมีความรู้คู่คุณธรรมให้มากทีุ่ด รวมถึงกฎหมาย

แต่ปัจจุบันกฎหมายกับเป็นเครื่องมือให้คนที่รู้ ให้กับคนที่มีฐานะ พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง กล่าวถึงพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ ได้อย่างสั้นๆ แต่ลึกซึ่งว่า "อย่าใช้กฎหมายรักษากฎหมาย ให้ใช้กฎหมายรักษาความเป็นธรรมตามสภาพความเป็นจริง" ดังนั้นการที่ชาวเลราไวย์ ถูกฟ้องนั้น ก็เพราะผู้บังคับใช้กฎหมายไม่นำกฎหมายให้ถึงชาวเลราไวย์ และใช้กฎหมายเพื่อรักษากฎหมายเท่านั้น ไม่พิจารณาความเป็นมนุษย์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม และจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ของชาวเลราไวย์ ผมจึงขอนำพระบรมราโชวาทมาฝากทุกท่านครับ

"...หลักที่ว่าทุกคนต้องทราบถึงกฎหมายและต้องทำตามกฎหมายนั้น รู้สึกว่าบางครั้งก็ใช้ไม่ได้ เพราะว่ากฎหมายไม่ถึงประชาชน ต้องนึกบ้างว่าเป็นความผิดทางราชการที่ไม่สามารถจะนำกฎหมายไปให้ถึงประชาชน..." (พระบรมราโชวาทในโอกาสพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ข้าราชการ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๑๓)

ผมขอยกตัวอย่างอีกเรื่องราวหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ ๙ และยังเป็นการแสดงถึงพระราชาที่ให้ความสำคัญของความเป็นมนุษย์ คือ การมอบเหรียญพ่อหลวง ให้กับชาวเขา โดยหลังเหรียญจะตีเลขรหัสเอาไว้ เพื่อให้ชาวเขาสามารถที่จะแสดงกับข้าราชการต่างๆ ได้ว่า ในหลวงได้มอบให้ พวกเขาก็คือราษฎรของพระองค์เช่นกัน สิ่งนี้เป็นการยืนยันชัดเจนว่า กฎหมายทะเบียนราษฎร์นั้น ไม่ได้สำคัญไปกว่าค่าของความเป็นมนุษย์ ให้เวลาพัฒนากฎหมายต่อไป แต่ความเป็นมนุษย์นั้นจะยังคงต้องรักษาไว้




สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์ http://www.tnews.co.th/contents/204759

ในอดีตพี่ชายของผมพยายามให้ผมศึกษากฎหมายพื้นฐานเบื้องต้นในวัยเด็ก ปัจจุบันพี่ชายผมเป็นผู้พิพากษาแล้ว ครั้งหนึ่งผมเคยคิดที่จะเปลี่ยนสายไปเรียนกฎหมาย แต่มีผู้รู้เคยแนะนำผมว่า ควรเรียนรู้ความรู้ต่างๆ ให้มากเท่าที่ทำได้ และศึกษากฎหมายฉบับที่สนใจก็ถือว่าใช้ได้เช่นกัน สามารถช่วยเหลือผู้คนได้ ปัจจุบันผมเป็นประธาน "เครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ" และใช้กฎหมายพิทักษ์การละเมิดสิทธิ์และความไม่เป็นธรรมกับคนพิการ และกำลังต่อสู้กับคนที่ใช้กฎหมายพิทักษ์กฎหมาย คือใช้กฎหมายช่วยคนผิด หาช่องโํหว่ต่างๆ ที่จะพ้นผิด หรือใช้กฎหมายเพื่อริดรอนสิทธิ์คนพิการแทน อันเป็นการบิดเบือนเจตนารมย์ของกฎหมาย การต่อสู้ยังคงเดินหน้าต่อไป 

การทำสิ่งใหม่ การที่ต้องต่อสู้กับแรงเสียดทานที่เราทำนั้น ผมมีกำลังใจเต็มเปี่ยม และผมมีตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมจากการทรงงานอย่างหนักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น ไม่ว่าผมจะพบเจออุปสรรคใดๆ ในชีวิต จึงเป็นเรื่องเล็กน้อย และเป็นธรรมดา ไม่น่าตระหนกใดๆ

ผมขอขอบพระคุณบุพการี ครอบครัว คนรอบข้าง ที่เกื้อหนุนให้คนพิการรุนแรงอย่างผมมีความพร้อมที่จะทำงาน ขอบพระคุณครูบาอาจารย์ ผู้เกี่ยวข้องที่ได้ให้ประสบการณ์และสอนวิชาการต่างๆ และผมสำนึกในพระเมตตาที่ได้พระราชทานหลักปฏิบัติต่างๆ ไว้ให้คนไทยทั้งประเทศ

ขอน้อมเกล้าฯ ถวายอาลัย ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า นายปรีดา ลิ้มนนทกุล

อ้างอิงข้อมูลประกอบการเขียนบทความ
๑.      การใช้ถ้อยคำแสดงความอาลัยในกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสู่สวรรคต, เว็บไซต์ http://themomentum.co/momentum-feature-thai-royal-language, เมื่อ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙
๒.      พระราชดำรัสด้านเศรษฐกิจพอเพียง, เว็บไซต์https://sites.google.com/site/ningzaonline3/kh-wikheraah-phra-rach-daras-phra-rach-krniykic/phra-rach-daras-dan-sersthkic-phx-pheiyng, เมื่อ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙

๓.      เครดิตภาพจาก Facebook และ Google
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
๑.      ข้อมูลส่วนตัวของผู้เขียน นายปรีดา ลิ้มนนทกุลเว็บไซต์http://preedatracking.blogspot.com/, เมื่อ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙
๒.      ข้อมูลบริษัท พีดับบลิวดี เอาท์ซอส เมเนจเมนท์ จำกัดเว็บไซต์http://pwdoutsourcemanagement.blogspot.com/, เมื่อ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙