59 : บทความชุด "ผมกำลังจะกลายเป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วม" ตอนที่ 8 @ 15 ตุลาคม 2554 ชื่อตอน "เหตุผลค้ำยัน ค้ำยันเหุผล"

สวัสดีครับเพื่อนๆ บทความนี้ขอท้าวความถึงบทความที่ 58 : บทความชุด "ผมกำลังจะกลายเป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วม" ตอนที่ 7 @ 15 ตุลาคม 2554 ชื่อตอน "ทุ่นลอยน้ำ แพลอยน้ำ เพื่อความปลอดภัย" ที่มีผลทำให้การสร้างไม้ค้ำยันนั้นไม่รับแรงดันของความสูงของน้ำที่อัดมาที่กำแพง จึงทำให้ต้องมีการรื้อตัวไม้ค้ำยัน ซึ่งเป็นไม้รับแรงอัดจากกำแพงมา ถ่ายแรงลงสู่พื้น แล้วติดตั้งเข้าไปใหม่ จึงอยากให้เพื่อนๆ ลองเปรียบเทียบภาพกันจากบทความทั้งสองตอน ดังนั้นสำหรับตอนนี้ ผมจึงอยากขออธิบายแบง่ายๆ โดยให้เพื่อนๆ นึกถึงหลักการการต้านแรงธรรมดาๆ ที่พอจะเข้าใจแบบชาวบ้าน ไม่ต้องถึงกับเรียนมาทางนี้โดยตรง

ก็คือ กำแพงเรียบๆ น้ำท่วมสูงขึ้นมาประมาณ 1 เมตร ระดับเดียวกับทับหลัง (ทับหลัง คือ คือคานปูตามแนวนอนระหว่างเสาถึงเสา) ซึ่งเราคงไม่ต้องทำอะไร ต่อเมื่อความสูงของน้ำไปที่ 1.50 เมตร เราก็ควรเริ่มเอาอะไรไปต้านแรงน้ำที่ความสูง 1.50 เมตรด้วย และถ้าความสูงของน้ำไปที่ 2.00 เมตร เราก็ยิ่งควรมีอะไรไปต้านแรงดันน้ำที่ความสูง 2 เมตรเช่นเดียวกัน แล้วอะไรที่จะต้านแรงได้ละ ถ้าเอากระสอบทรายก็คงไม่ไหว เพราะนอกจากจะแพงแล้ว ในชั่วโมงนี้แพงมาก มันยังไม่ตอบโจทย์การต้านแรงดันของน้ำด้วย เพราะการเรียงกระสอบทรายก็คงต้องเรียงชิดกำแพงอยู่ดี ดั.นั้นสำหรับพวกเราแล้ว การทำไม้ค้ำยันนั้น ตอนนี้เป็นทางออกที่ดีที่สุด ประหยัดที่สุด

ผมอยากให้เพื่อนๆ ถ้าจะยึดการทำไม้ค้ำยัน ให้ดูจากบทความนี้ ไม่ต้องดูบทความในตอนที่ 6 เพราะว่าทำผิด หลักการง่ายๆ ที่เราทำก็คือ เอาไม้ยูคา (เส้นละ 27-35 บาท) ขวางตามแนวนอน แนบกับกำแพง 2 เส้น ที่ระยะความสูง 1.20-1.70 เมตร จากนั้นเอาไม้แนวตั้ง 2 เส้นมาตอกด้วยตะปู ดันไม้แนวนอนไว้ ห้ามตอกตะปูใดๆ ไปที่กำแพงเด็ดขาด จากนั้นให้วะดระยะห่างจากกำแพงประมาณ 1.00-1.50 เมตร ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ให้ตอกหมุดไม่ยูคาลงพื้นเพื่อเป็นหลักยัน เอาไม้ค้ำยัน ด้านหนึ่งยันกับหมุดไม้ อีกด้านหนึ่งยีนกับไม้แนวตั้ง โดยบากไม้ให้ลงร่องความโค้งของไม้แนวตั้ง ตอกตะปู ที่หุดยันก็ตอกตะปูด้วย การทำวิธีนี้เมื่อมีแรงอัด หรือแรงดันจากน้ำมาสู่กำแพง ไม้ยันจะส่งแรงไปยังไม้แนวตั้ง ไม้แนวตั้งจะผ่านแรงต้านไปยังไม้แนวนอนที่ขวางรับผนังกำแพงไว้ แล้วแรงทั้งหมดจะวิ่งลงพื้นได้ เราก็จะสามารถปเองกันกำแพงเอาไว้ได้






























ในความจริงตามคำแนะนำของผู้รู้ ควรมีการเสริมอีกหลายจุดทั้งการยันเพื่อถ่ายแรง และการตีไม้เพื่อประคองโครงสร้าง เราคงจะทำเพิ่มอีกครั้งหนึ่งเมื่อมีระดับน้ำสูงจากระดับ 1.50 เมตรขึ้นไป เพราะอย่างน้อยโครงสร้างหลักเราก็มีแล้ว การเสริมความแข็งแรง และจุดค้ำยันต่างๆ ก็จะใช้เวลาไม่มาก ทำให้พวกเรามีความมั่นใจมากขึ้นในการป้องกันน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ เพราะเราก็ไม่อยากพูดคำว่า "ไม่คิดว่าน้ำจะสูงขนาดนี้" ซึ่งนั้นหมายถึงว่า น้ำได้ท่วมบ้านของพวกเราแล้ว และคงสร้างความเสียหายมากมาย (เสริมตบท้ายย่อหน้านี้คือ ในภาพจะเห็นว่า อาจมีการยันกับต้นไม้บ้าง ถือว่าเป็นการประยุกต์ละกันนะครับ คือต้นไม้ขวางด้วยก็ยันซะเลยง่ายดีครับ)

และเหตุการณ์ในการปรับปรุงไม้-้ำยันในวันนี้ เป็นจุดเปลี่ยนบางอย่างภายในครอบครัวใหญ่แห่งนี้ การลดความเป็นตัวตน การเงียบแล้วลงมือ ลดการถกเถียง มีการยอมรับกันมากขึ้น เหตุผลสำคัญที่สุด การอยู่รอดที่เป็นเป้าหมายหลัก ถ้าทุกคนมองเห็น "ธงแห่งการอยู่รอด" นี้ร่วมกัน ทุกอย่งจะผ่านไปได้ ผมจึงตั้งชื่อตอนว่า "เหตุผลค้ำยัน ค้ำยันเหุผล" ครับ

ดูจริงจังมากเลย แต่ไม่มีอะไรนะครับ เอาเป็นว่าตอนหน้าเรามาดูกันต่อในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ของการดำเนินชีวิตไปในระหว่างน้ำท่วมกันดีกว่าครับ จะเป็นอะไรก็ลองตามอ่านนะครับ