31 : ความจริงของทาน ศีล ภาวนา ในมุมมองของข้าพเจ้า

สวัสดีครับ เพื่อนๆ ทุกคน บทความนี้ดูจะธรรมะนิดๆ แต่ก็ไม่เชิงนะครับ ตัวผมนับถือศาสนาพุทธ แต่ไม่ค่อยจะเอาอ่าวสักเท่าไหร่ ไม่รู้พิธีกรรม หรือหลักคำสอนอะไรมากๆ แต่ก็คิดว่าในบางเรื่องน่าจะเข้าใจเป็นอย่างดี อย่างเช่นในบทความครั้งนี้ ผมตั้งชื่อว่า "ความจริงของทาน ศีล ภาวนา ในมุมมองของข้าพเจ้า" ครับ ซึ่งถือว่าต่อเนื่องมาจาก บทความที่ 29 : ครั้งแรกในชีวิตของผม ในการไปทำบุญโรงทาน

อย่างที่บอกครับว่า ผมเห็นอะไรบางอย่างของความเป็นจริง ของทาน ศีล ภาวนา จากการไปทำบุญโรงทาน ที่วัดหนองทาระภู ผมเคยได้ยิน และได้รับการสั่งสอนมาว่า การเจริญภาวนานั้นได้บุญมากกว่า การถือศีล และการถือศีลก็ได้บุญสูงกว่า การให้ทาน สงสัยคงจะเป็นจริงแน่นอน

ระหว่างที่ผมนั่งบนรถเข็น ผมช่วยอะไรม้าไพกับเตี่ย ไม่ค่อยได้มาก นอกจากพยายามดูแลตัวเอง เพื่อไม่ให้เป็นภาระก็ถือว่าเยี่ยมแล้ว ผมคอยถ่ายรูปเท่าที่ทำได้ คอยเอากระดาษปิดอุปกรณ์ต่างๆ เพราะแมลงวันเยอะ คอยบอกผู้มาทานอาหารว่า "หยิบผลไม้ฟรีครับ ไม่คิดตังค์"

ระหว่างที่ทุกคนทยอยมาหยิบผลไม้ไป ผมก็สังเกตุเห็นคน 2 ประเภท ประเภทแรกคือ มาหยิบผลไม้เพื่อไปทานและน่าจะทานหมดในงาน คือไม่ได้พกกลับบ้านด้วย หรือกินแต่พอดี แต่อาจจะสำหรับคนเดียว หรืออาจจะมาเป็นกลุ่ม เป็นครอบครัว

อีกประเภทคือ มาหลายรอบ มาถี่ๆ คือถี่มากๆ เอาไปเก็บซะเต็มถุงเลย ไม่ใช่ถุงเดียว หลายถุงด้วย เพราะผมมองตามไปถึงโต๊ะเลย (แนะนำว่า ถ้าจะอ่านบทความนี้ให้เข้าใจ และเห็นภาพ ควรกลับไปอ่าน
บทความที่ 29 ก่อนนะครับ) แล้วน่าเกลียดมากๆ ครับ คือที่นั่งอยู่กับโต๊ะและเก็บผลไม้ รวมถึงอาหารจากร้านอื่นๆ จะเป็นผู้ใหญ่ ส่วนเด็กเล็ๆ น่าจะแค่ 5-8 ขวบ จะเดินมาคอยหยิบ แต่งตัวมอมแมม แต่ไม่สกปรกอะไรมากมายนะครับ ก็คือประสาเด็กๆ ทำแบบนี้หลายกลุ่มมาก และก็มีบางคนที่มาหยิบเป็นผู้ใหญ่ก็มี แต่น้อย แค่ 2-3 คน แต่เด็กนี่สิ เกือบๆ 15 คนได้ มีอยู่ 3 คนที่มาบ่อยถึง 20-30 รอบ (พอดีผมว่างจัด เลยนั่งนับเอาไว้)

เป็นอย่างไรครับเพื่อนๆ ผมไปทำบุญกับม้าไพ และเตี่ยนะครับ แต่ตัวผมเองก็เริ่มคิดแล้วครับ ว่าคนเหล่านี้เอาเปรียบคนอื่น แทนที่จะแบ่งให้คนอื่นบ้าง ก็เอาไปเก็บไว้กับตัวเอง คือ มันคิดนอกเหนือจากการจะไปทำบุญแล้วทำให้จจิตใจสบาย มีความสุข และก็จำเป็นต้องพูดบางประโยคบ้าง เช่น

" ลิ้นจี่ หยิบได้แค่คนละพวงนะครับ แบ่งให้คนอื่นบ้างนะครับ "
" น้องหยิบบ่อยมากๆ เลย แบ่งคนอื่นบ้างนะ "
" อย่าใส่ถุงเลยครับ ให้หยิบไปก็พอครับ แบ่งคนอื่นบ้างนะครับ "

จนผมต้องปรึกษากับม้าไพและเตี่ยว่า เอายังไงดี ม้าไพและเตี่ยก็ให้คำตอบว่า "ช่างเขา เขาไม่มีกิน นานๆ ครั้ง ปล่อยเขาไป" ความรู้สึกของผมก็ดูจะปล่อยวางมากขึ้น สบายใจมากขึ้น เพียงแต่ว่า ความถูกต้องก็ยังคงต้องมีอยู่ในสังคมบ้าง คำพูดผมเปลี่ยนไปนิดหน่อย

" น้องมาหยิบบ่อยๆ ได้นะ พี่ไม่ว่า แต่อย่าเอาถุงมาใส่เลย "
" เอาไปเยอะๆ หลายถุง กินให้หมดนะครับ อย่าเอาไปทิ้ง "
" กินให้หมดนะครับ เสียดายนะครับ "

บางที่เตี่ยก็หยอกกับคนที่มาหยิบว่า " ลิ้นจี่พวงเดียวหยิบฟรี ถ้า 2 พวง 20 บาทนะ "
ส่วนม้าไพ ก็แซวว่า " ถ้าใครศิษย์ปู่ หยิบฟรี ถ้าไม่ใช่ 20 บาท "

มีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่มีคนมาบอกว่า มีใครก็ไม่รู้เอาฝรั่งไปเททิ้ง แล้วเอาถุงพลาสติกไปใส่กับข้าว ทำให้ม้าไพ มีโมโหเหมือนกัน ถึงกับต้องถามผู้ใหญ่บางคน และเด็กๆ ที่หยิบเยอะๆ ว่า " เอาถุงไปใส่กับข้าวรึเปล่า อย่าทิ้งนะ ตั้งใจเอามาให้กิน ของมันแพง "

เป็นอย่างไรบ้างครับ กับการ " ให้ทาน " ดูมันจะมีทุกอารมณ์เลยครับ ทั้งยินดี สบายใจ มีความสุข โมโห ต้องตักเตือน ต้องคิดทั้งเชิงบวก เชิงลบ ต้องขอร้องให้หลายๆ คนมาช่วยงาน ต้องขอบคุณ มีคนอยากได้ก็ต้องออกปากขอ มีผู้ให้ มีผู้รับ มีสงสาร มีการเอาเปรียบ มีความอยากได้ มีอีกหลากหลายอารมณ์ ที่มากมาย เกิดขึ้นภายใน 1 วัน มันเป็นสังคมเล็กๆ (หลักพันคนได้)

ผมคิดว่า มันก็วุ่นวายเหมือนกันนะครับ มันดูไม่สงบเท่าไหร่ ถ้าเทียบกับการถือศีล หรือนั่งทำสมาธิ การให้ทาน ทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ เกิดการให้ การรับ เกิดความคิด เกิดการเวียนว่ายของเวรกรรมต่างๆ ที่อาจจะเชื่อมโยงให้นำไปสู่เหตุการณ์ต่างๆ ได้ เช่น คนกินข้าวในโรงทานเสร็จ ก็ต้องมีเศษอาหาร อาจเอาไปให้สุนัขกินอีกต่อหนึ่ง มีคนต้องมาล้างจาน คนนั้นอาจจะเจ็บป่วยอยู่ หรืออีกคนที่ล้างจานบ้านอยู่ไกล มาช่วยด้วยแรง อยากทำบุญ ทำให้กลับบ้านเย็นมาก ลูกหิวข้าว สามีโมโห ทะเลาะวิวาทกัน หรืออีกคนอาจจะเกิดอุบัติเหตุตอนกลับบ้าน ทำให้กลายเป็นคนพิการไป เยอะแยะที่จะเป็นไปได้ เป็นต้น

ผมเริ่มพอจะเข้าใจด้วยตัวเองแล้วว่า ทำไมการให้ทานนั้นถึงนับได้ว่าได้บุญน้อยที่สุด ในที่นี้ผมคง
ยังไม่มีความรู้มากพอเกี่ยวกับการถือศีล แต่อยากจะข้ามไปยัง การทำสมาธิ (รวมถึงเจริญภาวนาด้วย) น่าจะโอเคสุด เพราะเมื่อเรานิ่งเท่าไหร่ สงบเมื่อไหร่ ก็เหมือนเราหยุดการสร้างโอกาสในการสร้างเวรกรรมต่างๆ ซึ่งจะนำพาไปสู่การเวียนว่ายตายเกิดต่อไปครับ (ความเข้าใจของผมคนเดียว)

บทความต่อไป ยังคงเกี่ยวข้องกับธรรมะ และ
การไปทำบุญโรงทาน เหมือนเดิม ซึ่งทำให้ผมมีมุมมองที่แตกต่างเรื่อง " พยายามทำบุญ จนเดือดร้อน บาปจริงหรือ " ลองติดตามกันนะครับ

ขอบคุณครับ
ปรยา
14/5/2551