99 : บทความชุด “ผมกำลังจะกลายเป็นผู้ประสบภัย” ตอนที่ 48 @ 8 พฤศจิกายน 2554 ชื่อตอน "เสนอแนวทางการป้องกันระดับหมู่บ้าน หรือกลุ่มบ้านจัดสรร"

สวัสดีครับ เพื่อนๆ จริงๆ แล้วบทความนี้ผมลังเลอยู่นานว่าจะเขียนดีหรือไม่ เป็นเรื่องแนวทางการป้องกันน้ำท่วมสำหรับบ้านจัดสรร ที่ผมเองก็รู้สึกหงุดหงิดมาก เนื่องจากผมดูภูมิทัศน์ของหมู่บ้านผ่าน Google Earth แล้ว คิดว่าสามารถป้องกันได้อย่างไม่ยากเย็นเลย แล้วทำไมประธานหมู่บ้านถึงไม่ป้องกัน ทั้งๆ ที่มีเงินส่วนกลางอยู่ หรือแม้แต่จะลงขันกันป้องกันก็ยังได้ ถ้าเปรียบเทียบกับน้ำท่วมเข้าบ้าน แล้วต้องมาซ่อมบำรุงทีหลัง แต่ผู้ใหญ่ 2 ท่านบอกว่า ให้ผมเขียนสิ คนที่เขารู้แล้ว ก็ช่างเขา เขาก็ไม่อ่าน แต่ถ้าคนไหนไม่รู้ คิดไม่ถึง จะได้รู้ ได้แนวคิดไปแก้ปัญหาในโอกาสต่อไปหากมีน้ำท่วมเข้ามาอีก

ผมเริ่มจากได้เห็นความร่วมมือของคนในครอบครัวใหญ่ที่ช่วยกัน โดยเริ่มต้นที่กระตือรือล้นจากครอบครัวของน้องสาวคนโตกับน้องเขยก่อน แล้วทุกคนก็เริ่มเข้ามาช่วยกัน จนในที่สุดก็น้ำไม่ได้ท่วมเข้ามาสร้างความเสียหายในบ้าน มาถึงตอนนี้ทฤษฎีต่างๆ ความรู้เท่าที่มี ถูกใช้ในการป้องกันน้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้เรามีประสบการณ์ และตัวผมก็มีคามมั่นใจมากขึ้น ที่จะแบ่งปันประสบการณ์จริงพร้อมคำแนะนำในลักษณะของพื้นที่ ที่มีมากขึ้น เช่น ลักษณะของหมู่บ้านจัดสรร หรือแม้แต่ในอนาคตจะพยายามร่างไอเดียต่างๆ ออกมา เพื่อหวังว่า จะเป็นประโยชน์กับผู้อื่นในอนาคต

ขอเข้าสู่การอธิบายแนวทางการป้องกันน้ำท่วมสำหรับหมู่บ้านจัดสรร โดยผมขอทำเป็นข้อๆ อ้างอิงจากรูปภาพที่ผมเตรียมมา ด้วยจุดเริ่มต้นจากการ copy ภาพจาก Google Earth มาเลย จะได้เห็นภาพของจริง ดังนี้

1. ศึกษาภูมิทัศน์ของหมู่บ้านที่ตนเองอาศัยบนระบบแผนที่ต่างๆ แล้วร่วมประชุมกับเพื่อนบ้านในโซนที่อยู่ใกล้ชิดกันว่าจะร่วมกันป้องกันน้ำท่วมด้วยกันหรือไม่ และถ้าสามารถพูดคุยในระดับทั้งหมู่บ้านได้ยิ่งดี ทั้งนี้เมื่อคุยแล้วก็ต้องยอมรับว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนั้นต้องหารตามสัดส่วนให้ลงตัวนะครับ รวมทั้งยอมรับข้อสรุปในมติตกลงร่วมกัน ต้องมีเป้าหมายร่วมกัน

ปัจจัยหลักของการป้องกันระดับหมู่บ้านนี้ ก็คือ รายจ่ายที่เกิดขึ้น สำหรับหมู่บ้านที่มีการเก็บค่าสาธารณูปโภคในอัตราที่สูง ทำให้มีงบประมาณอยู่แล้ว ควรประชุมคณะกรรมการแล้วชี้แจงลูกบ้านว่าจะป้องกันตรงจุดไหน โซนไหน ช่วงไหนโดนน้ำท่วมบางส่วน ช่วงไหนปล่อยท่วม เพราะว่าแต่ละหมู่บ้านจะมีองค์ประกอบด้านภูมิประเทศต่างกันอยู่แล้วอย่างแน่นอน


2. สำหรับหมู่บ้านภัทรไพรเวท 3 อุทยานทอง ที่พวกเราอยู่นั้น ตามภาพข้างบนจะเห็นว่า มีจุดอ่อนที่ด้านทิศเหนือ และทิศตะวันออก เพราะติดกับพื้นที่ว่างเปล่า ในขณะที่ทิศใต้ มีแนวกำแพง และทิศตะวันตกมีแนวกำแพงบ้านเป็นตัวกั้น ดังนั้นถ้าให้ผมเสนอ ในทิศตะวันออกและทิศเหนือควรร่นพื้นที่มาประชิดกำแพงแล้วเอาแนวกำแพงบ้านเป็นหลัก สามารถกั้นกระสอบทรายแบบมีไม้ค้ำยันป้องกันพื้นที่ได้เกือบ 90% เลย ผมคิดว่าน่าจะใช้กระสอบทรายไม่เกิน 6,000 กระสอบ งบประมาณราวๆ 210,000 บาท ส่วนปั๊มน้ำ หรือไดโว่ นั้นคงต้องประชุมกันว่าจะบริหารอย่างไร ใช้ไฟฟ้าจากตรงไหน วางจุดไหน เรื่องพวกนี้หาข้อสรุปได้หากพูดคุยกัน และมีเวลาเตรียมการ

3. ปัญหาสำคัญของสังคมเมือง (บ้านจัดสรร) คือ ความไม่คุ้นเคย ตำแหน่งผู้นำชุมชน มักเป็นตำแหน่งที่ไม่มีใครเอา ไม้มีใครอยากยุ่ง โดนด่าง่าย ถ้าดีเสมอตัว ทำพลาดโดนด่าเละ และลูกบ้านอาจจะไม่ค่อยให้ความร่วมมือ เมื่อเกิดภัยพิบัติเร่งด่วน การพูดคุยเคยน้อยอยู่แล้ว ทำให้ยิ่งไม่ทัน จบลงที่ท่วมทั้งหมู่บ้านแบบที่ผมเจออยู่ ผู้นำไม่ทำอะไรเลย ไม่แม้แต่จะแสดงความพยายาม ทางความคิด จึงไม่ต้องบอกเลยว่า ไม่มีการกระทำใดๆ ทั้งสิ้นที่แสดงถึงความพยายาม ปากพูดเพียงว่า สู้ไม่ได้ ไม่ไหว ต้องปล่อย ยอมรับว่าหงุดหงิดมากๆ ครับ


4. หากระดับหมู่บ้านไม่สามารถพูดคุยกันได้ อาจต้องลดระดับลงเหลือเป็นโซนในหมู่บ้าน เช่น ปกติหมู่บ้านจัดสรร จะมีบ้านตรงข้ามตลอดแนวเป็นบล็อกๆ ลองคุยกันดูว่าจะกั้นเป็นบล็อกๆ ที่อยู่กันร่วมกัน เอาไหม เช่น ตามภาพข้างบน ที่มีบ้านหันหน้าชนกันฝั่งละ 10 หลัง รวมเป็น 20 หลัง เราก็กั้นกระสอบทรายที่หัว-ท้าย ของซอย (ตามรูปตัว I สีขาว) ที่ตำแหน่งตามภาพ (มีลูกศรชี้) น่าจะใช้กระสอบทรายไม่เกิน 600 ลูก ฝั่งละ 300 ลูก งบประมาณ 21,000 บาท หาร 20 หลัง ตกหลังละ 1 พันกว่าบาทเท่านั้นเอสำหรับค่ากระสอบทราย ซึ่งผมคิดว่าคุ้มมากๆ ครับ


5. ตัวอย่างแนวการป้องกันตรงบล็อกหน้าบ้านที่ครอบครัวผมอยู่ ตรงข้ามล้อมกรอบขาว ปัจจุบันเป็นทาวน์เฮ้าส์แล้ว จึงทำให้สามารถกั้นได้ง่ายขึ้น

6. หรือจะเป็นตัวอย่างแนวการวางกระสอบทรายของโซนบ้านเดี่ยว ที่เชื่อมกับโซนทาวน์เฮ้าส์ บริเวณหน้าทางเข้าหมู่บ้าน ที่ด้านทิศใต้มีแนวกำแพงตลอดแนว ทั้งนี้ผมเพียงเสนอเป็นแนวทางเท่านั้น เพราะว่าในความจริง ต้องเป็นการตกลงของคนในชุมชนที่อยู่ร่วมกัน ต้องสามัคคีกัน

7. สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันกับการป้องกันแนวระดับน้ำท่วมด้านบนพื้นถนนที่มองเห็น คือ การป้องน้ำที่มาตามท่อระบายน้ำ ต้องนำแบบแปลนของโครงการมาร่วมกันพิจารณาและทำเป็นองค์รวม เพราะแนวท่อระบายน้ำของโครงการหมู่บ้านนั้น ย่อมมีทางเข้าออกไปเชื่อมต่อกับแนวท่อสาธารณะตามแนวถนนชนบท หรือถนนหลวง เช่นกัน จุดนี้ยังไงก็ควรทำรวม ไม่งั้นอาจป้องกันยาก เพราะถ้าโซนไหนบล็อกกันเป็นโซนอาจกระทบกับโซนอื่นได้ แต่ท้ายสุดแล้ว หากตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องกั้นเป็นโซน นั่นแสดงว่า หมู่บ้านที่ท่านอยู่ไม่เป็นเอกภาพ ไม่มีความร่วมมือระดับชุมชน ผมคิดว่าก็ไม่ต้องไปสนใจใคร เอาเท่าที่ตกลงกันได้ก็พอครับ

8. ต้องเข้าใจว่า มีน้ำซึมผ่านมาแน่นอนจากหลายสาเหตุ ลองอ่านเพิ่มเติมในตอนที่ 39 ที่ผมสรุปจุดรั่วซึม ให้ได้อ่านกัน ดังนั้นปั๊มน้ำ เพื่อดูดน้ำออกนั้นสำคัญมากๆ อีกเช่นกันครับ

9. ที่เหลือเป็นการบริหารจัดการ กำลังคน การจัดเวรยาม การระวังเรืองไฟฟ้าดับ การระวังการโจรกรรมต่างๆ การป้องกันทรัพย์สิน เช่น รถของแต่ละบ้าน เป็นต้น ที่ต้องทำร่วมกัน ช่วยกันดูแลครับ

เพราะว่าบ้านชุด 4 หลัง ของครอบครัวผมนั้น ก็เปรียบเสมือนการจำลองหมู่บ้านเล็กๆ เช่นกัน ดังนัน ความสามัคคี การวางแผนรับมือ การเตรียมตัว การรู้ระบบท่อน้ำทิ้ง ความเข้าใจในเรื่องแรงดันน้ำ ต่างๆ ประกอบกัน ล้วนสำคัญทั้งสิ้น หวังว่าบทความนี้ จะพอเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ

สำหรับตอนต่อไป ผมจะขอกล่าวถึงเรื่องถุงยังชีพสักนิดนะครับ เพราะว่า ณ วันที่ 7/11/2554 นี้รัฐบาลกำลังโดนคดีคอรัปชั่นถุงยังชีพอยู่พอดี ผมจึงอยากบันทึกเอาไว้ให้ได้ทราบกันสำหรับหมู่บ้านที่ผมอยู่แล้วมีคนมาแจก อนาคตอาจจะได้สอบทวนได้ครับ ตามอ่านกันนะครับ