238: "เส้นทางคู่ขนานที่มาบรรจบกัน" ตอนที่ 69: พาครอบครัวทัวร์ทำบุญรับปีใหม่อิงประวัติศาสตร์ 2563 เมื่อ 1 ม.ค.63

สวัสดีครับทุกท่าน บทความนี้สืบเนื่องจากการเป็นแฟนคลับ “ช่องส่งผี” ประทับใจทั้งอาจารย์เรนนี่ที่ติดต่อกับดวงจิตดวงวิญาณได้ ชื่นชมกับความรู้ทางประวัติศาสตร์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ของอาจารย์เจม อีกทั้งยังชอบและเข้าใจการนำเสนอ+บริหารจัดการของคุณบ๊วย ทำให้เทป “ส่งผีสนทนา: ทำบุญปีใหม่ฯ” เมื่อวันที่ ๓๐ ธ.ค.๖๒ https://www.youtube.com/watch?v=HDPxYZr6TZg และเทป “ส่องผี LIVE: ศุกร์ ๑๓ วัดปราสาท นนทบุรี” เมื่อ ๑๓ ก.ย.๖๒ https://www.youtube.com/watch?v=EWIbuvRSIPU ทั้ง ๒ เทป เป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดสถานที่เป้าหมายที่จะสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายแห่งในวันขึ้นปีใหม่ ๑ ม.ค.๖๓ นี้ครับ

เริ่มต้นตอนเช้าที่ไหว้พระที่บ้าน สวดมนต์ข้ามปี ไหว้เจ้าที่หน้าบ้าน ไหว้พระภูมิของหมู่บ้าน จากนั้นภรรยาเตรียมขนมที่พร้อมเจอใครก็สามารถให้ทานได้เลยทันที ประมาณ ๑๒.๓๐ น. น้องคนขับรถมาถึง ขับรถถึงทางออกหน้าทางเข้าออกหมู่บ้าน ให้ของขวัญปีใหม่กับ รปภ. ก่อนเลย ตั้งแต่เช้าถึงเย็นยังไม่สามารถไปหาอาม้า (คุณแม่) ได้ คงต้องรอเย็นๆ ครับเพราะอาม้าไปทำบุญตั้งแต่เช้าครับ

๑๓.๐๐ น. ถึงศาลเจ้าพ่อหลักเมือง จ.นนทบุรี คนเยอะมากๆ ปรากฎว่าแฟนคลับช่องส่องผีน่าจะเยอะครับ เพราะ “ส้ม+ขนมเปี๊ยะ” เพียบครับ เราใช้เวลาที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง จ.นนทบุรี นานถึง ๑ ชม. ผม copy บทอธิษฐานมาจากแฟนคลับอีกท่าน กล่าวตามอาจารย์เรนนี่ไม่ผิดเพี้ยน จากนี้ต่อไปผมต้องทำหน้าไกด้ พาทุกคนตระเวณตามสถานที่โบราณอีก ๔ แห่ง แข่งกับเวลาพอสมควรครับ


ผมเริ่มหน้าที่ไกด์ในรถยนต์โตโยต้าอินโนว่า และเราเรียกแม่ย่านางรถของเราว่า “พี่ว่า” วันนี้เราขอพี่ว่า ให้ดูแลพวกเราให้ปลอดภัยเหมือนเดิมทุกครั้ง ผมเริ่มเล่าเรื่องให้ทุกคนฟังว่า “วัดแรกที่เราจะไปนะครับ ผมเองยังตกใจเลยเพราะตอนที่ค้นหาวัดโบราณที่มีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี ในเขตจังหวัดนนทบุรี ผมพบข้อมูลวัดนี้โดยบังเอิญว่าเป็นวัดที่มีช่วงเวลาสำคัญของประวัติศาสตร์ยุคกรุงธนบุรี ชื่อว่า “วัดตำหนักใต้” เพราะเป็นวัดที่เป็นตำแหน่งตั้งพลับพลาประทับชั่วคราวของพระเจ้าตากสินมหาราช ในอดีตเรียก “ตำบลบางธรณี” และมีการอัญเชิญ “พระแก้วมรกต” กลับพระนครทางชลมารค เพื่อไปประดิษฐานที่วัดอรุณราชวราราม โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้มอบหมายให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไปยังเวียงจันทน์เพื่ออัญเชิญพระแก้วมรกตกลับสู่ประเทศไทย” ผมนึกภาพตามว่าท่านพระเจ้าตากอัญเชิญพระแก้วมรกตสู่พระนคร (ธนบุรี) ทางชลมารค คงจะยิ่งใหญ่อลังการมากๆ ครับ

๑๔.๑๕ น. เมื่อเราไปถึงวัดตำหนักใต้ พบว่าอุโบสถหลังเก่าที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว กับอุโบสถหลังใหม่ ปิดทำการช่วงปีใหม่ ทำให้ไม่สามารถสักการะพระประธานในอุโบสถที่มีอายุมากกว่า ๒๐๐ ปีได้ เพราะวัดตำหนักใต้ ไม่สามารถระบุได้ว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้มีการสร้างและบูรณะจนเป็นวัดที่สมบูรณ์มีพระภิกษุจำพรรษา ภรรยาผมจึงเดินหาพระภิกษุเพื่อสอบถาม ปรากฎว่าบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา พระท่านบอกว่า ที่หอพระเล็กๆ หน้าต้นไทรมีพระพุทธรูปที่ถูกเชิญมาจากวัดร้างริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปัจจุบันเป็นกระทรวงพาณิชย์ มีอายุเกิน ๒๐๐ ปี แน่นอน เราจึงสักการะท่านแทนพระประธานของวัดตำหนักใต้ สำหรับวัดตำหนักใต้ผมยังเคยได้ยินผู้เฒ่าเล่าว่าใต้อุโบสถเป็นที่เก็บอัฐถิของขุนนางในอดีตด้วยครับ

บริเวณริมฝั่งเจ้าพระยา วัดตำหนักใต้

พระพุทธรูปโบราณที่ย้ายมาจากกระทรวงพาณิชย์

ภรรยาสักการะท่านแทนพระพุทธรูปประธานในอุโบสถ

เรื่องที่ผมสงสัยคือ เหตุใดจึงอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประทับที่บริเวณแห่งนี้ คำถามนี้หากรายการช่องส่องผี สนใจอาจจะช่วยหาคำตอบให้ทุกท่านทราบได้ วัดต่อไปที่เรากำลังเดินทางไปคือ “วัดชมภูเวก” ซึ่งห่างจากวัดตำหนักใต้ ไม่ไกลกันนัก ท้าวความสั้นๆ คือ ในช่วงอยุธยาตอนปลาย ก่อนที่จะเสียกรุงครั้งที่ ๒ ราชวงศ์อังวะได้ยึดอำนาจจากราชวงศ์ตองอู (กรุงหงสาวดี) ทำให้ชาวมอญได้อพยพเข้ามาในอยุธยา โดยอพยพลงใต้จนมาถึงบริเวณที่ตั้งวัดชมภูเวกในปัจจุบัน สร้างบ้านเรือนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยความที่ชนชาติมอญนับถือพุทธศาสนาอย่างมาก จึงได้สร้างวัดชมภูเวก ขึ้นมา โดยสื่อความหมายของ “ชมภูเวก” คือ ๑) มีภูมิประเทศเป็น “ภู” ๒) ผู้ก่อสร้างคือ พ่อปู่ “ชมพู” และ ๓) สถานที่แห่งนี้มีความเงียบสงบ “วิเวก”

๑๔.๔๕ น. พวกเรามาถึง “วัดชมภูเวก” มีคนมาเยอะพอสมควร เพราะที่วัดนี้มีอุโบสถหลังเก่ามีอายุกว่า ๓๐๐ ปี และมีลักษณะเป็นโบสถ์มหาอุตม์ศิลปะแบบมอญ ภายในมีภาพวาดจิตกรรมฝีมือโบราณโดยเฉพาะภาพวาดของ “พระแม่ธรณีบีบมวยผม” ที่กล่าวกันว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย ด้านหลังอุโบสถมีวิหารที่มี “พระพุทธบาทจำลอง” สมัยสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ และใกลๆ กันยังมีพระธาตุมุเตา ศิลปะแบบมอญ ซึ่งมีการบูรณะในสมัยรัชกาลท่ ๖ เราอยู่ไม่นานเพราะยังเหลืออีก ๒ แห่ง ซึ่งสถานที่โบราณต่อไป คือ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนนทบุรีเดิม ที่มีอายุกว่า ๓๕๐ ปี

พระอุโบสถวัดชมภูเวก

ด้านหน้าพระอุโบสถหลังใหม่วัดชมภูเวก






สถูปเจดีย์พ่อปู่ชมพู ผู้ก่อสร้างวัดชมภูเวก

สำหรับ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนนทบุรีเดิม (ปากคลองอ้อม) นั้น ผมสืบค้นก่อนออกจากบ้านเพียง ๒ ชั่วโมง เพราะมีความสงสัยหลายเรื่องพร้อมๆ กัน แบบองค์รวม จากเทป “ช่องส่องผี LIVE: วิธีเชิญแม่ย่านางรถ” https://www.youtube.com/watch?v=jpMGyZ0mDqA ซึ่งอาจารย์เจม บอกว่าบริเวณศูนย์รถยนต์ฟอร์ดอาจจะเป็นอู่ต่อเรือสำเภาเก่า คือตัวผมเป็นคนนนทบุรี ก็ไม่ทราบประวัติของจังหวัดนนทบุรีสักเท่าไหร่ ต้องเรียกว่าไม่เคยสงสัยประวัติศาสตร์มากกว่า ผมจึงลองเสริช์ค้นหาศาลหลักเมืองเดิมของจังหวัดนนทบุรี จนพบแล้วตั้งใจว่าในวันปีใหม่นี้ละต้องไปสักการะให้ได้ ยิ่งอ่านประวัติยิ่งน่าสนใจ และเชื่อมโยงกับ “วัดปราสาท” ซึ่งเป็นวัดสุดท้ายที่จะไปสักการะพระองค์ดำ ตามรอยรายการช่องส่องผี อย่างน่าสนใจ

กว่า ๔๐๐ ปี ในสมัยของพระเจ้าปราสาทอง ลักษณะของเส้นทางแม่น้ำช่วงระหว่างปากคลองอ้อม ในปัจจุบัน ถึงวัดเขมาภิรตาราม มีระยะทางถึง ๑๗.๕ กิโลเมตร มีลักษณะคดเคี้ยวไปมาผ่านวัดต่างๆ ถึง ๒๙ วัด หาดูจากแผนที่ แม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าช่วงนี้ปัจจุบันคือ คลองอ้อม เชื่อมคลองบางกอกน้อย ซึ่งตีวงอ้อมไปถึงบางใหญ่ ซึ่งตรงนี้เองที่ในอดีตผมเคยมีคำถามว่า ในพื้นที่บริเวณบางใหญ่ บางกรวย ถึงตลิ่งชัน ทำไมถึงมีวัดมากมายทั้งๆ ที่ไม่มีแม่น้ำ แต่ก็มีคลอง คำถามในหัวผมที่แกะไม่ออกคือ วัดเยอะก็ใช่ แต่ทำไมเยอะมากคือ ถี่ติดๆ กันเลย เรียกว่าบางทีเข้าใจผิดว่าเป็นวัดเดียวกันก็มีโดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอบางใหญ่เดิม หากผู้อ่านนึกเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาเก่าไม่ออก อาจจะลองนึกถึงถนนบางกรวย-ไทรน้อย แทนนะครับ ค่อนข้างใกล้เคียงกับแนว “คลองอ้อม” หรือเรียกว่า “คลองอ้อมนนท์” ครับ และเพราะเส้นทางแม่น้ำจ้พระยาสายเก่านี่เอง หากจะมีอู่ต่อเรือสำเภาตรงบริเวณไทรม้าท่าอิฐที่ศูนย์รถยนต์ฟอร์ดที่คุณบ๊วยไปออกรถ ก็เรียกว่าใกล้เคียงเลยทีเดียวครับ

เมื่อมีการขุดคลองที่เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงบริเวณปากคลองอ้อม ที่ตั้งศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนนทบุรีเดิม (ปากคลองอ้อม) ถึงวัดเขมาภิรตาราม ที่มีลักษณะลัดตรง ความยาวประมาณ ๕ กิโลเมตร ธรรมชาติก็เสกสรรให้กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า วันเวลาผ่านไปก็เริ่มตื้นเขินจนเป็นคลองอ้อมในปัจจุบัน แต่ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมคลองอ้อมถึงมีความกว้างพอสมควร ก็เพราะเคยเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่านั่นเองครับ



รูปหล่อสักการะสมเด็จพระนารายณ์มหาราช


๑๕.๒๐ น. พวกเรามาถึง “ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนนทบุรีเดิม (ปากคลองอ้อม)” ที่สถานที่โบราณนี้มีชุมชนรายล้อม ศาลตั้งอยู่เชิงสะพานถนนเลี่ยงเมืองนนท์ ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาหันหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา มีอายุกว่า ๓๕๐ ปี เนื่องจากในอดีตสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ เมื่อราษฎรเมื่อมีการอพยพหนีข้าศึกลงใต้จากอยุธยามาแล้วในบริเวณนนทบุรีมักไม่กลับพระนคร ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์จึงให้ตั้งเมืองนนทบุรีเพื่อไว้เกณฑ์ไร่พลเป็นทหาร ต่อมาเมื่อแม่น้ำเจ้าพระยาขยายใหญ่ขึ้นข้าศึกถึงพระนครเร็วกว่าเดิม ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงสร้างป้อมปราการไว้ต้านข้าศึก และให้ตั้งศาลหลักเมืองนนทบุรีบริเวณปากคลองอ้อมนี้ เมื่อพวกเราเข้าไปสักการะพบว่า ที่ศาลเดิมนี้มีทั้ง “เจ้าพ่อหลักเมือง” “พระเสื้อเมือง” และ “พระทรงเมือง” ด้วย รวมถึงภาพสักการะ “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” และในพื้นที่นี้ยังพบซากจรเข้จึงเชื่อว่าเคยเป็นวังจรเข้มาก่อนทำให้มี “กุมภีร์เงิน-กุมภีร์ทอง ผู้เป็นบริวารของเจ้าพ่อหลักเมือง” ต่อมามีชาวบ้านได้อัญเชิญ “เจ้าแม่ทับทิม” และ “เจ้าพ่อแสงมณี” มาประดิษฐานด้วย เราอยู่ตรงนี้ไม่นานเพราะต้องรีบเดินทางไปสถานที่สุดท้ายของวันปีใหม่ ๒๕๖๓ นี้ครับ คือ “วัดปราสาท” ซึ่งเป็น ๑ ใน ๒๙ วัดที่แม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าไหลผ่าน

จากหลักฐานเดิม “วัดปราสาท” เคยเป็นที่ตั้งทัพเกณฑ์ไพร่พล อันเนื่องจากมีราษฎรย้ายถิ่นฐานมาอยู่บริเวณเมืองนนทบุรีจำนวนมากไม่ยอมกลับพระนครศรีอยุธยา ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม มอบหมายให้ เจ้าพระยากลาโหม (ต่อมาเป็นพระเจ้าปราสาททอง) ได้สร้างวัดปราสาททอง หากคาดการณ์จากห้วงเวลาประวัติศาสตร์แล้ว วัดปราสาททองมีอายุกว่า ๔๐๐ ปี

บริเวณจุดจอดรถของวัดปราสาท

ผมกับภรรยากำลังพูดคุยกันที่วัดปราสาท

ภายในอุโบสถ (มหาอุตม์) วัดปราสาท

๑๕.๔๕ น. เราเดินทางมาถึงวัดปราสาท ผมนั่งรถเข็นจึงเข้าไปในโบสถ์ยาก จึงใช้วิธี ภรรยานำรถเข็นเข้าไปวางไว้ก่อน แล้วผมขี่หลังน้องคนขับรถเข้าไปในโบสถ์แล้วนั่งบนรถเข็นอีกที (ตอนออกก็ทำแบบเดียวกัน) เมื่อเรามาถึงวัดปราสาทแล้ว เราขอพรท่านพระประธานเพื่อเป็นสิริมงคลของครอบครัว และญาติที่ไม่ได้มาด้วย ครอบครัวเราทำตามที่อาจารย์เรนนี่แนะนำ จากนั้นเรานำขนมและน้ำผลไม้ ไปถวายสังฆทานในจุดรับสังฆทานที่ทางวัดเตรียมไว้แล้ว ซึ่งมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์จำนวนมากให้ได้กราบไหว้ ได้ทำบุญบริจาคโลงศพ ก่อนกลับเราหยาดน้ำอุทิศบุญที่เดินสายทั้งวันให้กับทุกๆ ท่าน (กล่าวแล้วจะยาว) และไม่ลืมที่จะอุทิศบุญกุศลให้กับดวงวิญญาณที่อยู่ในบริเวณวัดปราสาทตามที่อาจารย์เรนนี่แนะนำไว้ด้วยครับ เราออกจากวัดประมาณ ๑๖.๓๐ น. เรียกว่าเราใช้เวลาที่วัดปราสาท มากที่สุด

จากการนำเสนอเนื้อหาสาระในส่วนของประวัติศาสตร์ที่อาจารย์เจม ดูแลนั้น ทำให้ส่วนตัวที่ชอบเรื่องประวัติศาสตร์อยู่แล้ว มีความสนใจติดตามรายการช่องส่องผีเป็นพิเศษ และผมเชื่อว่า ผู้ชมส่วนใหญ่ก็คงเป็นเหมือนผม จำได้ว่า ตอนที่ผมเป็นไกด์พิเศษให้กับครอบครัวในรถ ดูทุกคนจะชอบมาก เพราะถ้าลองสังเกตดูจะพบว่า ผมเริ่มต้นจากสถานที่ที่มีความเก่าน้อยที่สุดก่อน แล้วค่อยๆ เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ไปด้วย เพื่อให้มีความต่อเนื่องกันของพื้นที่ สิ่งศักดิ์ และประวัติศาสตร์

เราปิดท้ายการทำบุญขึ้นปีใหม่ ด้วยการไปไหว้อาม้า และขอพรปีใหม่ ๒๕๖๓ จากอาม้า สบายใจ และมีแรงสู้ไปเรื่อยๆ กับอุปสรรคข้างหน้าครอบครัวเรายังคงเดินหน้าที่จะขับเคลื่อนต่อสู้กับกลุ่มทุจริตคอรัปชั่นประพฤติมิชอบคนโกงสิทธิ์คนพิการที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยถึงปีละ ๑.๕ พันล้านบาท ต่อไป ใกล้เวลา THE END GAME แล้วละครับ
.
ก่อนจบบทความผมและครอบครัวพาทัวร์ทำบุญอิงประวัติศาสตร์ในวันขึ้นปีใหม่ ๒๕๖๓ ขออนุโมทนาบุญที่แฟนคลับช่องส่องผีร่วมกันทำบุญสร้างพระสถูปเจดีย์ถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชร่วมกันด้วยครับ สาธุ




.
อ้างอิงความรู้จากลิงก์เว็บไซต์ต่างๆ ดังนี้
ประวัติพระแก้วมรกต : จากล้านนาสู่ล้านช้าง ถึงกรุงธนบุรี-กรุงเทพฯ (๑) ตอนที่ ๑ https://www.silpa-mag.com/history/article_8133
ประวัติพระแก้วมรกต : จากล้านนาสู่ล้านช้าง ถึงกรุงธนบุรี-กรุงเทพฯ (๑) ตอนที่ ๒ https://www.silpa-mag.com/history/article_8666
ประวัติวัดตำหนักใต้ https://www.faiththaistory.com/tamnuk-tai-non/
ประวัติวัดชมภูเวก https://www.faiththaistory.com/chompu-vek/
ประวัติคลองอ้อมนนท์ https://bit.ly/39vojia
ประวัติศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนนทบุรีเดิม (ปากคลองอ้อม) ฉบับย่อ https://thailandtourismdirectory.go.th/th/info/attraction/detail/itemid/21690
ประวัติศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนนทบุรีเดิม (ปากคลองอ้อม)
ประวัติวัดปราสาท ฉบับย่อ
ประวัติวัดปราสาท
รายนามกษัตริย์ และช่วงปีการครองราชย์ ของสมัยกรุงศรีอยุธยา https://bit.ly/39wOK7i