101 : บทความชุด “ผมกำลังจะกลายเป็นผู้ประสบภัย” ตอนที่ 50 @ 9 พฤศจิกายน 2554 ชื่อตอน "รากเหง้าจิตอาสา"

สวัสดีครับเพื่อนๆ วันนี้อยู่ดีๆ ผมก็อยากพิมพ์บทความ "รากเหง้าของจิตอาสา" ขึ้นมาซะงั้น อาจจะเป็นเพราะว่า เมื่อคืนผมได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ประสบภัยท่านหนึ่งประมาณ 2 ชั่วโมง ผมรับฟังเป็นหลักเพื่อให้เขาได้ระบายความอัดอั้นตันใจ บางช่วงเขาก็ร้องไห้ ระหว่างที่คุยผมตัดสินใจบอกเขาว่า ผมเป็นคนพิการ เขาประทับใจ และในระหว่างที่คุยเขารู้เพิ่มว่า ผมไม่ได้พิการแบบธรรมดา พอทราบว่าผมทุพพลภาพ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ทางด้านร่างกาย เขาขอบคุณมากมาย และยิ่งรับไม่ได้กับความเห็นแก่ตัวของผู้ประสบภัยส่วนใหญ่

ยอมรับว่า การที่อยู่กับข้อมูลจำนวนมาก การที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ประสบภัย ผู้ช่วยเหลือผู้อื่น หรือกับอาสาสมัครต่างๆ ผมคิดว่าประเทศไทยยังมีหลายอย่างที่ไม่พร้อม โดยเฉพาะคนไทยของเรา ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นมืออาชีพ ผมเห็นจุดบอดใหญ่ 2 จุด คือ
  1. ตัวภาครัฐ รวมทั้งหมดนะครับ รัฐบาลระดับประเทศ กับหน่วยงานรัฐท้องถิ่น จำนวนมากที่ไม่ได้มีความจริงใจทุ่มเทให้กับการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยรวมแล้วผมมองว่า ไม่เป็นมืออาชีพ
  2. ตัวผู้ประสบภัยเอง ที่ก็ไม่ได้เป็นมืออาชีพเช่นกัน ผมอยากให้ผู้ประสบภัย ลองจินตนาการว่า ต้องมาเป็นผู้ให้ หรือผู้บริจาค ให้เข้าใจว่า ผู้ให้มีจิตใจที่จะให้อยู่แล้ว อย่าทำร้ายน้ำใจของเขา ไม่ใช่ว่ามาตบตีแย่งชิงถุงยังชีพ หรือสิ่งของ ต่อหน้าเขา หรือมารุมทึ้งของต่อหน้าเขา ร้ายไปกว่านั้นบางคนไปต่อว่าเขาว่ามาแจกของยังไงให้ไม่ครบ ้าผู้ให้คนนั้นมีจิตใจท้อแท้ ก็อาจเข็ดและเลิกราที่จะให้ไปเลย การขอนั้นก็มีศิลปะเหมือนกัน ถ้าผู้ประสบภัยทำให้ผู้บริจาคมีความสุข ก็จะได้รับไปเรื่อยๆ
ดังนั้น ผู้ประสบภัยควรมีระเบียบในการขอ แน่นอนว่าต้องอยู่รวมกันเป็นชุมชน กลุ่มผู้ประสบภัยต้องลงมติให้ได้ว่า ใครควรจะเป็นตัวแทน ของชุมชนตัวเอง ผมไม่อยากเรียกว่า ผู้นำผู้ประสบภัยนะครับ มันดูมีอำนาจเกินไป เอาแค่ตวแทนก็พอ จากนั้นก็มีการลงทะเบียน เพื่อทราบจำนวน ทำให้ผู้ให้สบายใจที่จะให้ ลองนึกภาพนะครับ ผู้ประสบภัยแจ้งไปว่า มี 200 คน พอผู้บริจาคเอาของมาให้ กลายเป็น 240 คน อีก 40 คนไม่ได้ คุณคิดว่าผู้บริจาคจะรู้สึกอย่างไร เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ประสบภัยอยากได้ ก็ต้องเป็นมืออาชีพด้วยครับ

เกริ่นซะยาว แบบว่าทำงานตรงนี้ ข้อมูลมันเยอะ มันอัดอั้นครับ ขอกลับเข้ามาเรื่อง "จิตอาสา" ในทัศนะของผม คนไทยทีมีความพร้อมนั้นมีจิตอาสามาก เช่น พร้อมกำลังทรัพย์ พร้อมเวลา พร้อมสมอง พร้อมกำลังกาย จากปีที่แล้วถึงปีนี้ ผมมั่นใจว่า จิตอาสาเอกชนนั้นมีพลังมาก ช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐแบบประเมินค่าไม่ได้ โดยเฉพาะทางด้านจิตใจ รวมไปถึงภาพลักษณ์ของความมีน้ำใจของคนในชาติ ที่อยู่ในสายตาของคนทั่วโลก ถ้าจำไม่ผิดประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 3 ในด้านจิตอาสา

ผมจึงอยากนำประวัติของจิตอสาในทัศนะของผม มาแบ่งปันเพื่อนๆ เพราะผมคิดว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ของพวกเรานี่ละครับ ที่เป็น "ต้นแบบจิตอาสา" รวมทั้งยังเป็น รากเหง้าของจิตอาสา ในประเทศไทย อีกด้วย เริ่มจาก ไทยเกิดภัยพิบัติใหญ่ที่ตะลุมพุก เมื่อปี 2505 พระองค์จึงทรงประกาศรวบรวมสิ่งของบริจาคจากประชาชน เพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ที่กลายเป็นผู้ประสบภัย โดยมีนัยะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยร่วมกัน แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยะภาพของพระองค์ ที่ได้ปลูก "เมล็ดพันธุ์แห่งจิตอาสา" อย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่บัดนั้น เพราะพระองค์ได้ก่อตั้ง มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ขึ้นมาด้วย

พระองค์ไม่ได้สอนเราเพียงแค่การมีจิตอาสา แต่พระองค์ทรงให้แนวทางเอาไว้ด้วย ลึกๆ ผมคิดเอาเองว่า ปัจจุบันนั้นเมล์ดพันธุ์แห่งจิตอาสา ได้เติบใหญ่ งอกงาม อย่างที่พระองค์ทรงตั้งพระทัยไว้ เพียงแต่ผมคิดว่า เรายังไม่ได้ทำตามแนวทางที่พระองค์ทรงให้ไว้เท่านั้นเอง คือการให้แบบมีระเบียบ และผมคิดเอาเองว่า น่าจะเป็นการให้ที่มีขอบเขต เป็นการให้เพื่อให้ผู้ประสบภัยมีกำลังใจ ที่จะลุกขึ้นมาทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเอง ซึ่งผมมองว่าทุกวันนี้ ผู้รับอาจมีส่วนใหญ่ไม่คิดอย่างนั้น บางคนดูแลตัวเองได้ แต่กลับแฝงตัวมารับสิทธิ์จากของบริจาคต่างๆ จึงทำให้ความสมดุลระหว่าง ผู้ให้ กับผู้รับ ผิดเพี้ยนไป

ข้อมูลเบื้องต้นของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ที่เว็บไซต์นะครับ http://www.rajaprajanugroh.org/ และสามารถดูภาพยนตร์การก่อตั้งมูลนิธิฯ ในภาพยนตร์ "ราชประชานุเคราะห์" ที่ลิงก์นี้นะครับ http://www.weloveking.org/movie.html หรือเพื่อนๆ จะชมตัวอย่างภาพยนตร์ที่ หนังโฆษราตัวนี้ก่อนก็ได้ครับ

**

**

ผมขอคัดลอกข้อความ 1 ย่อหน้า ในเว็บไซต์มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ มาฝากเพื่อนๆ ด้วยครับ

"ระราชทานกำเนิดมูลนิธิ เมื่อได้ช่วยเหลือประชาชนในระยะแรกแล้วยังเหลือเงินอีกสามล้านบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า เงินสามล้านบาทนี้ควรตั้งเป็นทุนเพื่อหาดอกผลสำหรับสงเคราะห์เด็ก ซึ่งครอบครัวต้องประสบวาตภัยภาคใต้ และขาดผู้อุปการะเลี้ยงดูประการหนึ่ง และสำหรับสงเคราะห์ช่วยเหลือราษฎร ผู้ประสบสาธารณภัยทั่วประเทศ ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานเงินสามล้านบาทให้เป็นทุนประเดิมก่อตั้งมูลนิธิ และพระราชทานนามว่า “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ใน “พระบรมราชูปถัมภ์” กับทรงดำรงตำแหน่งพระบรมราชูปถัมภกแห่งมูลนิธินี้ด้วย ชื่อของมูลนิธินี้หมายความว่า “พระราชา” และ “ประชาชน” อนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน เป็นการแสดงน้ำพระทัยว่า เวลาทำงานควรจะให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมด้วย มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้ก่อกำเนิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์ โดยได้ทรงมีพระราชดำริว่าภัยธรรมชาติหรือสาธารณภัยอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ ไม่มีผู้ใดจะคาดหมายได้ ดังที่ได้เกิดขึ้นที่แหลมตะลุมพุกจังหวัดนครศรีธรรมราช และอีกหลายจังหวัดภาคใต้ มูลนิธิฯ ได้ทุนดำเนินงานจากเงินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน เงินอุดหนุนจากรัฐบาล จากผู้ที่มีจิตศรัทธาบริจาค จากทรัพย์สินซึ่งมีผู้ยกให้ และจากดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินอันเป็นทุนของมูลนิธิฯ"

เป็นกำลังใจให้กับ "ผู้ให้"( ผู้บริจาค) มากๆ ะครับ และอยากให้ "ผู้รับ" (ผู้ประสบภัย) รักษาน้ำใจ และทนุถนอมน้ำใจของผู้ให้ด้วยนะครับ เพราะจิตใจของผู้ให้นั้นพร้อมแล้ว (ไม่นับพวกฉวยโอกาส นะครับ) แล้วผู้รับ ในภาวะภัยพิบัติละครับ เป็น "ผู้ประสบภัยมืออาชีพ" แล้วหรือยัง ผู้ประสบภัยที่พร้อมจะประหยัด พร้อมที่จะมีระเบียบวินัย พร้อมที่จะแบ่งปันให้เพื่อนร่วมภัยด้วยกัน พร้อมที่จะช่วยเหลือซึงกันและกัน และพร้อมที่จะมอบความรู้สึกดีๆ (จบแล้วครับ ยาวเลย ถ้าเขียนต่อ อาจจะเป็นแนวเทศน์แทนแล้วมั้งครับเนีรย)

ประเด็นสุดท้ายที่อยากฝากผู้ประสบภัยไว้เพิ่มเติม หากผู้ประสบภัยมีการพัฒนาตัวเอง จะสามารถกลายเป็น "ผู้ให้" ได้ทันทีเช่นกัน ใครตัดผมได้ ก็อาสามาตัดผมให้ผู้ประสบภัยด้วยกันเอง ใครเก่งทำอาหารก็มาทำอาหาร ใครมีแรงก็ช่วยงาน เป็นต้น อย่างนี้ในความเห็นผมก็เรียกว่าเป็น "ผู้ประสบภัยมืออาชีพ" เช่นกันครับ

สำหรับตอนหน้า ผมอยากพิมพ์เกี่ยวกับ การทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในระหว่างที่ตัวเองก็เป็น "ผู้ประสบภัยมืออาชีพ" มาเล่าสู่กันฟังครับ ลองตามอ่านดูนะครับ