๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙: บทความรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย: ตอนที่ ๑




บทความรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย
๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙
ตอนที่ ๑: ฝ่าวิกฤตครั้งสำคัญในชีวิตได้ เพราะน้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นหลักปฏิบัติ

มีผู้คนจำนวนมากที่ผมได้ร่วมงานด้วย ตั้งแต่ในอดีตสมัยที่ผมยังไม่พิการ ยังเป็นลูกจ้างอยู่ จนถึงปัจจุบันที่ตีตั๋วถาวรในการกลายเป็นคนพิการทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร ว่าทำไมผมถึงบริหารจัดการงานโครงการต่างๆ ได้โดยลำพัง ทำไมมีคนไม่มากแต่สามารถทำงานใหญ่ๆ หลายโครงการได้ อาจจะเป็นเพราะมีพื้นฐานที่ดีจากการทำงานช่วยคุณแม่ มาตั้งแต่เด็กๆ เนื่องจากที่บ้านขายของชำ และมาปรับเปลี่ยนเป็นขายอุปกรณ์ทางการช่างช่วงที่ผมเป็นวัยรุ่นจนถึงทำงานใหม่

สมัยที่จบใหม่ และเป็นวิศวกรขายสินค้าอุตสาหกรรมให้กับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ คือเป็นลูกจ้างให้กับบริษัทต่างๆ (ผมเปลี่ยนงานบ่อย) มีแรงบันดาลใจอย่างมากที่จะให้ช่วงชีวิตนี้มีความสมบูรณ์ คือ มีอุดมการณ์ในการทำงาน ภาษาชาวบ้านเรียกว่า บ้างาน ก็น่าจะเข้าใจง่ายกว่า มองโลกสวยงาม ตอนนี้ก็ยังมองโลกสวยอยู่ครับ เพียงแต่อาจจะระวังตัวมากขึ้น จากประสบการณ์ส่วนตัวที่มีอยู่พอสมควร เนื่องจากคนเบียดเบียนมีมากกว่า คนที่อยากจะช่วยเหลือ จำได้เลยว่า งานโครงการต่างๆ ผมแทบจะไม่ใช้ทรัพยากรของบริษัทสักเท่าไหร่ ยกเว้นบางขั้นตอนที่มีความจำเป็นจริงๆ ดังนั้น จึงบริหารจัดการด้วยการใช้ผู้รับเหมา หรือ ช่างธรรมดาๆ ที่ผมจะแนะนำวิธีการต่างๆ ที่ทำให้เขามีความรู้ และทำให้เขาสามารถทำงานให้เราได้อย่างดี ค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็จะบริหารจัดการภายใต้โครงการของเราเอง ไม่ไปใช้งบประมาณกลางของแผนก อีกทั้งยังเป็นที่พึ่งให้กับเพื่อนๆ ในแผนก ในการมาเบิกค่าใช้จ่ายผ่านโครงการของผม เวลาที่โครงการของคนอื่นเขาบริหารจัดการไม่ดี แล้วจะไม่ได้ค่าคอมมิชชั่น ช่วงเวลาสำคัญตรงนี้เองในระหว่างที่เป็นลูกจ้าง ที่เจ้านายของผมหรือผู้บริหารอาจจะไม่ทราบเลยว่า ผมแอบคิดเอาเองว่า บริษัทที่ผมไปทำงานด้วยนั้น ผมเป็นเจ้าของกิจการเสียเอง (ตรงนี้เข้าข้างตัวเองมากๆ เพราะเราคงยังไม่สามารถจะมีทุกอย่างได้เอง ซ้อมๆ ไว้ก่อนครับ)

หลังพิการใหม่ๆ ในช่วง ๕ ปีแรก ผมทำงานเปิดบริษัทเอง ๓ บริษัท เคยมีพนักงานและช่างเทคนิคติดตั้งระบบ รวมมากสุดถึง ๔๐ คน ส่วนตัวรู้สึกเองว่า พิการแล้วทำได้ขนาดนี้ ภูมิใจมากแล้ว (จากหลายปัจจัยซึ่งผมจะยังไม่ได้กล่าวถึงในบทความชุดนี้) แต่ในที่สุดธุรกิจมีความเสี่ยง อีกทั้งมีความผิดพลาดในการบริหารงานโดยเฉพาะเรื่องการเงินการบัญชี จึงทำให้ต้องปิดตัวบริษัททั้ง ๓ แห่งลง ช่วงระยะเวลา ๘ เดือนต่อมา เป็นสถาการณ์เลวร้ายยิ่งกว่า ตอนที่ผมรถคว่ำเมื่อ ๒๘ พ.ย.๔๔ เสียอีก เพราะตอนนั้นผมยังมีครอบครัว มีหนี้สินเล็กน้อย มีกำลังใจที่ดี มีทุนสำหรับการลงทุนก้อนหนึ่ง แต่ช่วงเวลา ๘ เดือนนี้กลับเป็นห้วงเวลาที่ผมสัมผัสได้ถึงดินแดนลี้ลับทางมโนสำนึก ซึ่งผมต้องพูดคุยกับตัวเองอย่างมาก จนในที่สุดผมได้ตั้งโจทย์ยากให้กับชีวิตของตัวเอง การที่ตั้งโจทย์ยากนั้น จะทำให้เราต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการปฏิบัติ ณ ตอนนั้นยอมรับเลยว่า “แนวคิดหรือทฤษฎีใหม่ ทฤษฎีพอเพียง” แล่นเข้ามาในหัว ผมจึงขอเขียนบทความถึงพระราชดำรัสที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาแบ่งปันผู้อ่าน ดังนี้
๑)      คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข” พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๑
๒)      คำว่าพอเพียงความหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความหมายกว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้เองเท่านั้น แต่มีความหมายว่า พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเองพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา  ธันวาคม ๒๕๔๑
โจทย์ยากของผมตั้งอยู่บนพื้นฐานปกติของคนพิการรุนแรง ที่ไม่สามารถจะช่วยเหลือตัวเองได้ สามารถสรุปเป็นข้อๆ ดังนี้
·       งานเดิมต้องใช้คนจำนวนมากในการทำธุรกิจ เมื่อมีคนมาก กอปรกับส่วนตัวเป็นคนชอบช่วยเหลือคนอื่น ทำให้ผมต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำรงชีวิตของผู้คนที่มาเกี่ยวข้องมาก ส่งผลต่อการไม่สามารถควบคุมภาพใหญ่ของการมีเจ้าหน้าที่จำนวนมากได้ ดังนั้น โจทย์ยากของผม คือ ต้องไม่มีพนักงานเลยแม้แต่คนเดียว
·       เมื่อตัดสินใจว่าไม่มีพนักงานแม้แต่คนเดียวแล้ว ส่งผลให้ไม่มีความจำเป็นต้องมีสำนักงาน ไม่มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายค่าสาธารณูปโภคเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ดังนั้น โจทย์ยากต่อมา คือ ไม่มีสำนักงาน ไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ แต่ต้องสามารถอธิบายให้ลูกค้ามองเห็นตรงนี้ได้ว่า เพราะอะไร เนื่องจากส่งผลต่อความเชื่อมั่น เมื่อต้องมีการนำเสนอโครงการต่างๆ ต้องกล้าอธิบายว่า บริษัทของเราดำเนินการแบบไม่มีกำไร (non profit company) และผมกับภรรยาไม่ได้ทำงานตามลำพัง แต่ทำงานร่วมกันแบบเครือข่าย หรือโครงข่ายแทน
·       ธุรกิจเดิมไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ตอนนั้น บวกกับโจทย์ยากที่กำหนดขึ้นมา ทำให้ผมต้องตัดสินใจ เรียนรู้สิ่งใหม่ คือ เรียนรู้ ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล กับธุรกิจใหม่ ธุรกิจด้านการนำไอที เข้ามาเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ดั่งเดิม ซึ่งปัจจุบันกำลังดำเนินการอยู่ และยังค้นพบอีกว่า “กฎหมาย” มีส่วนสำคัญในการทำงาน ทำธุรกิจ ทำให้ปัจจุบัน ผมศึกษากฎหมายอย่างมาก เรียกได้ว่าจะทำธุรกิจอะไร ก็จะศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันจึงแตกงานออกมาทำในเรื่องของการนำ “กฎหมายการจ้างงาน” มาทำเป็นธุรกิจเพื่อสังคมในนาม “บริษัท พีดับบลิวดี เอาท์ซอส เมเนจเมนท์ จำกัด” และเป็นบริษัทแรกๆ ที่มุ่งมั่นทำงานด้านพัฒนาอาชีพคนพิการ จนได้รับการยอมรับจากสถานประกอบการ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังมีส่วนในการขับเคลื่อนสิ่งใหม่ๆ ในประเทศไทยในด้านนี้

บางครั้งคนเราสำคัญตัวเองผิด ยิ่งเก่งยิ่งหาทางออกไม่เจอ คำกล่าวง่ายๆ แต่สอนวิธีคิดมากมาย เช่น “สูงสุดคือนสู่สามัญ” หรือ “ง่ายๆ แต่ดีที่สุด” เป็นต้น ทำให้ผู้คนจำนวนมากบรรลุหลักการ และนำพาตัวเองพ้นวิกฤตในชีวิตได้อย่างมาก ดังนั้นทั้งพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาท มากมายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ฝากไว้ให้คนไทยจำนวนมาก ส่วนตัวผมอยากให้หลายๆ ท่าน นำไปเป็นหลักปฏิบัติ ผมเองก็ได้พบทางออกครั้งสำคัญในชีวิต และนำมาสัมมาอาชีพจนถึงปัจจุบัน มีทิศทางชัดเจน และกำลังนำพาทั้งตัวเอง ครอบครัว รวมถึงการช่วยเหลือผู้คนในสังคม โดยเฉพาะคนพิการ ให้ร่วมกันไปในทิศทางที่ควรจะเป็น ในทิศทางที่ดีขึ้น ด้านการมีอาชีพ ที่สามารถจับต้องได้ ทำได้ มีรายได้ที่จะสามารถดำรงชีพได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ในเร็ววันนี้

การทำสิ่งใหม่ การที่ต้องต่อสู้กับแรงเสียดทานที่เราทำนั้น ผมมีกำลังใจเต็มเปี่ยม และผมมีตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมจากการทรงงานอย่างหนักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น ไม่ว่าผมจะพบเจออุปสรรคใดๆ ในชีวิต จึงเป็นเรื่องเล็กน้อย และเป็นธรรมดา ไม่น่าตระหนกใดๆ

ผมขอขอบพระคุณบุพการี ครอบครัว คนรอบข้าง ที่เกื้อหนุนให้คนพิการรุนแรงอย่างผมมีความพร้อมที่จะทำงาน ขอบพระคุณครูบาอาจารย์ ผู้เกี่ยวข้องที่ได้ให้ประสบการณ์และสอนวิชาการต่างๆ และผมสำนึกในพระเมตตาที่ได้พระราชทานหลักปฏิบัติต่างๆ ไว้ให้คนไทยทั้งประเทศ

ขอน้อมเกล้าฯ ถวายอาลัย ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า นายปรีดา ลิ้มนนทกุล

อ้างอิงข้อมูลประกอบการเขียนบทความ
๑.      การใช้ถ้อยคำแสดงความอาลัยในกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสู่สวรรคต, เว็บไซต์ http://themomentum.co/momentum-feature-thai-royal-language, เมื่อ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙
๒.      พระราชดำรัสด้านเศรษฐกิจพอเพียง, เว็บไซต์ https://sites.google.com/site/ningzaonline3/kh-wikheraah-phra-rach-daras-phra-rach-krniykic/phra-rach-daras-dan-sersthkic-phx-pheiyng, เมื่อ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙

๓.      เครดิตภาพจาก Facebook
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
๑.      ข้อมูลส่วนตัวของผู้เขียน นายปรีดา ลิ้มนนทกุล, เว็บไซต์ http://preedatracking.blogspot.com/, เมื่อ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙
๒.      ข้อมูลบริษัท พีดับบลิวดี เอาท์ซอส เมเนจเมนท์ จำกัด, เว็บไซต์ http://pwdoutsourcemanagement.blogspot.com/, เมื่อ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙