เลขที่ชอบอีกเลข (8) : ว๊ากเกอร์ กับลิง 10 ตัว

เช้ามืด ตอนตี 2 ของวันที่ 13 มิถุนายน 2550 ขณะกำลังทำงานอยู่ ทุกครั้งจะมีทีวี ยี่ห้อ FAMILY เป็นเพื่อน และได้ดูรายการ " club X " ทางช่อง 3 ซึ่งพูดคุยถึงเรื่อง " ว๊ากเกอร์ " ว่า " ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรกับ ว๊ากเกอร์ "

ตอนที่เรียนอยู่ปี 1 ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี (ปัจจุบันเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี) หลังเปิดเรียน พวกเราถูกเรียกว่า " Freshy " และทุกคนต้องร่วมกิจกรรม " ประชุมเชียร์ " ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่มีปัญหาอะไร บางคนก็มีเทคนิคไม่เข้าร่วม เป็นความสามารถส่วนบุคคล แต่ส่วนตัวผมนั้นเฉยๆ ไม่คิดอะไรมาก ไม่ต่อต้าน ไม่รู้สึกว่าชีวิตมีปัญหาอะไร สบายๆ เพราะถือว่าเป็นประเพณีที่ทำ สืบต่อกันมา และการเข้าร่วมกิจกรรมก็ไม่หนักหนาอะไร ชีวิตผมเจอแรงกดดันมากกว่านี้อีก

ที่สำคัญการฝึก รด. (นักศึกษาวิชาทหาร) ที่เรียนตอน ม.4-6 หนักกว่านี้ตั้งเยอะ และที่สำคัญกว่านั้น ตอนผมเข้าค่ายลูกเสือ ขณะอยู่ ม.3 ที่โรงเรียนโยธินบูรณะ ฝึกหนักกว่า เรียน รด. ซะอีก หมายความว่า ทั้งการเข้าร่วมกิจกรรม ทั้งแรงกดดันต่างๆ ที่จะให้ทุกคนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (Unity) สามัคคีกัน หรือแม้แต่ให้ทุกคนเข้าถึงระบบ SOTUS นั้น ผมผ่านมาหมดแล้ว จึงรู้สึกธรรมดามาก

จนมีอยู่วันหนึ่ง พวกเราถูกสั่งให้วิ่งรอบสนามฟุตบอลได้ 3 รอบแล้ว ผมเห็นทุกคนเหนื่อยมาก

เมื่อรุ่นพี่ที่เป็น " ว๊ากเกอร์ " ถามว่า " เหนื่อยไหม จะพักไหม "

ผมจึงยกมือขึ้น รุ่นพี่ก็เข้ามาถามผมว่า " ยกมือขึ้นมา มีอะไร "

ผมตอบรุ่นพี่ว่า " เพื่อนๆ เหนื่อยแล้ว ผมขอวิ่งรอบสนามแทนครับ " (ที่ผมกล้าพูดอย่างนั้น เพราะการสอบเก็บคะแนนวิชาพละ ตอน ม.4 ที่โยธินฯ ให้วิ่งรอบสนามฟุตบอล 20 รอบต่อเนื่องครับ)

เท่านั้นแหละครับ ว๊ากเกอร์รุ่นพี่ทั้งหมด ก็ตะโกนกันเสียงดังระงมเลยครับ พอจับใจความได้ว่า

" เห็นไหม เพื่อนคนเดียว ขอวิ่งแทนทุกคน เพื่อนมันอยากเหนื่อยแทน รักเพื่อนไหม "

กลายเป็นว่า ผมได้พักบนอัฒจรรย์คนเดียว ที่เหลือถูกสั่งวิ่งอีก 2 รอบ กลายเป็นทำให้เพื่อนลำบาก โดนเพื่อนบ่นหลายคนครับ เป็นอีกอารมณ์หนึ่ง ที่หลังประชุมเชียร์แล้ว เป็นเรื่องกล่าวขวัญกันในหมู่รุ่นพี่ปี 2-4 ทำให้ตอนหลังผมสนิทกับรุ่นพี่ปี 2 มากๆ และรุ่นพี่ที่เป็นว๊ากเกอร์ทุกชั้นปีบางคน

ผมชอบคำอธิบายของดารารับเชิญ ที่เคยเป็น " ว๊ากเกอร์ " มาก่อน ถึงคำอธิบายเกี่ยวกับ " ทฤษฎีลิง 10 ตัว " ว่า

เคยมีการทดลอง นำลิง 10 ตัวไปอยู่ในห้อง ที่มีบันไดตั้งไว้ และมีกล้วยแขวนอยู่ เมื่อมีลิงตัวใดตัวหนึ่ง พยายามจะปีนบันได ไปกินกล้วย ผู้ควบคุมจะทำการลงโทษลิงทั้ง 10 ตัว ด้วยการฉีดน้ำไปที่ลิง และเปิดแอร์ให้หนาวสั่น ทำซ้ำๆ กันจนลิงทั้ง 10 ตัวเกิดพฤติกรรม " รุมกัด " ลิงตัวที่จะพยายามไปปีนกินกล้วย ก่อนจะโดนลงโทษฉีดน้ำ และลดอุณหภูมิห้องให้หนาวสั่น

จากนั้นนำลิงตัวที่ 11-15 มาแทนลิงชุดเก่า 5 ตัว (ตัวที่ 1-5) เมื่อลิงตัวใหม่ ตัวใดตัวหนึ่ง พยายามจะปีนกินกล้วย ก็จะถูกลิง 5 ตัวเก่า รุมกัด จนเป็นนิสัย และเมื่อนำลิงเก่า ตัวที่ 6-10 ออกไป และนำตัวใหม่ ตัวที่ 16-20 มาแทน ก็ปรากฏว่า ลิงตัวที่ 11-15 ก็จะรุมกัด ลิงตัวใดตัวหนึ่งที่เป็นตัวใหม่ที่ 16-20 ทันที่ที่จะปีนกินกล้วย

ซึ่งก็เป็นบทสรุปของดารารับเชิญว่า การประชุมเชียร์ ที่มีว๊ากเกอร์เป็นตัวสร้างแรงกดดัน ให้น้องๆ รักกันนั้น กลายเเป็นประเพณีที่ถูกสืบทอดต่อๆ กันมา โดยที่รุ่นน้องบางคนอาจไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในอดีตของประเพณี หรือไม่เข้าใจความหมายของประเพณีนั่นเอง ไม่ต่างอะไรกับลิง 10 ตัวใหม่ ที่รู้แต่เพียงว่า ถ้ามีลิงตัวใดตัวหนึ่งจะปีนกินกล้วย ต้องรุมกัด โดยที่ไม่ทราบเลยว่า ลิง 10 ตัวเก่านั้นถูกฉีดน้ำ และลดอุณหภูมิห้องให้หนาวเย็นเมื่อมีลิงจะปีนกินกล้วย

ส่วนตัวผม คิดว่า ผมเข้าใจประเพณีนี้ แต่ตอนปี 2 ผมเลือกที่จะเป็น " สันทนาการ " เพราะผมให้เวลากับภาควิชาได้น้อย เนื่องจากมีภาระทางบ้าน และการเป็น " ว๊ากเกอร์ " ต้องทุ่มเทจริงๆ ครับ ผมยืนยันแทนได้

หวังว่าประเพณีนี้จะยังคงสืบต่อกันไป แต่อาจปรับปรุงวิธีการ ให้เหมาะสมกับยุคสมัยครับ

ขอบคุณครับ

ปรีดา ลิ้มนนทกุล
mobile : 086-314-7866
Tel. & Fax.: 02-924-2726
email : preeda.limnontakul@gmail.com
update : June 15, 2007