69 : บทความชุด “ผมกำลังจะกลายเป็นผู้ประสบภัย” ตอนที่ 18 @ 16 ตุลาคม 2554 ชื่อตอน "อบต. มาแจกถุงยังชีพชั่วคราว กระบวนการเชิงสัญลักษณ์ของเหตุการณ์น้ำท่วม"

สวัสดีครับเพื่อนๆ ผมขอขเียนบทความย้อนหลังสักหน่อยนะครับ เกี่ยวกับ "ถุงยังชีพ" เพราะว่าที่บ้านได้รับ 1 ครั้งเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2554 ภาพทั้งหมดในบทความก็เป็นบรรยากาศที่ทาง อบต. พิมลราช นำมาแจก ถ้าไม่ได้เข้าใจอะไรผิดไป ผมคิดว่าพี่คนเสื้อขาว ดูมีอายุหน่อย น่าจะเป็น นายก อบต. นะครับ จากภาพผมเห็นว่า ไม่สมควรที่ทุกคนมาเดินลุยน้ำครับ น่าจะมีวิธีการอื่น กลัวเรื่องความสะอาดและโรคภัยไข้เจ็บ จะได้เก็บแรง เก็บร่างกายไว้ช่วยกันพัฒนาประเทศชาติครับ บ่นๆ ให้อ่านกันประเดิมว่า เมื่อมีภัยพิบัติ ก็ต้องมีถุงยังชีพ

สำหรับตอนนี้ ผมไม่อยากเอ่ยถึง "ถุงยังชีพชั่วคราว" แต่ผมอยากพูดถึง "ถุงยังชีพถาวร" และน่าจะเป็นถุงยังชีพ ที่ผู้ประภัย หรือว่าที่ผู้ประสบภัย เป็นคนแพ็คเอง ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าประชาชนชาวไทยยังทำไม่ได้ ผมเห็นว่ารัฐควรสนับสนุน อย่างน้อยในระดับชุมชนก็ยังดี คือให้ชุมชนสร้าง "ถุงยังชีพถาวร" เอง ให้พวกเขาบรรจุสิ่งของเอง เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการเอง เตรียมการเอง แพ็คเอง ผมคงกำลังจะทำ "โครงการถุงยังชีพถาวร" เท่าที่ตัวเองและผู้เกี่ยวข้อง จะทำได้ หวังเพียงเป็นการจุดพลุ ให้เป็นประเด็นแล้วหลายๆ ฝ่าย หรือตัวชุมชน และผู้ประสบภัยได้คิดได้เอง ว่าควรจะสร้างถุงยังชีพถาวร เอง

ที่พูดอย่างนี้เพราะว่า เวลาเราสร้างถุงยังชีพเอง เราจะได้อย่างใจ ที่สำคัญจะไม่เสียของ เราจะใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด ไม่มีอะไรสูญเสีย ถ้าสูญเสียก็จะน้อยที่สุด ผมแค่อยากให้เงินบริจาคที่ทุกคนร่วมด้วยช่วยกันนั้นมันคุ้มค่ามากที่สุดเท่านั้นเอง จะเป็นไปได้ไหมที่ผมเคยเห็นตัวอย่างในทีวี ที่มีชุมชนผู้ประสบภัยรวมตัวกัน เอาถุงยังชีพชั่วคราวมารวมกัน มีการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับคนในพื้นที่ ของมีน้อย แจกจ่ายเท่าที่จำเป็น และมีฝ่ายออกไปรับถุงยังชีพชั่วคราวเข้ามารวบรวม ผมคิดเอาเองว่า อย่างนี้คือกึ่งๆ ระหว่างถุงยังชีพชั่วคราวและถาวร แล้วนะครับ เพียงแต่พวกเขายังไม่ได้สร้างเองเท่านั้น แต่มีการจัดการร่วมกันเอง

ลำดับต่อไปก็จะีการติดต่อกับผู้อื่น คือ ผู้นำในภาวะภัยพิบัติ จะเป็นผู้นำตัวจริงที่ชาวบ้านยอมรับ มีความต้องการของทุกคนในมือ ในลำดับนี้ ผมอยากเห็น "สต๊อกยังชีพชั่วคราว" มีการบริจาคในลักษณะ ข้าวสาร 10 ถุง (ถุงละ 49 กิโลกรัม) ปลากระป๋อง 2 ลัง เทียนไข 50 แพ็ค น้ำปลา 1 ลัง น้ำตาล 1 กระสอบ ผ้าอนามัย 20 แพ็ค น้ำดื่ม 200 ขวด เป็นต้น คือ ผู้นำสามารถแจ้งขอรับสิ่งของบริจาคแบบเป็นออเดอร์ที่จำเป็น จากนั้นผู้ประสบภัยในชุมชนก็มารับอีกต่อหนึ่ง ไม่ใช่เหมือนที่ผมเห็นในทีวี ที่มารับถุงยังชีพตั้งแต่เช้า เข้าถึงบ้านก็ดึกมากแล้ว หรือบางคนก็จมน้ำตาย มันเศร้ามากเลยครับ ผมคิดเอาเองว่า "สต๊อกยังชีพชั่วคราว" นั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นของ "สต๊อกยังชีพถาวร" และเป็น "ถุงยังชีพถาวร" เช่นที่บ้านกำลังทำอยู่ ณ เวลานี้ที่ต้องอยู่ในฐานะผู้ประสบภัยเช่นกันครับ











ผิดถูกอย่างไร เห็นต่างหรือเหมือนกันอย่างไร ผมก็ไม่มีอะไรมากนะครับ เพียงเห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีพัฒนาการ ถุงยังชีพก็ควรมีพัฒนาการเช่นกัน และถ้าเป็นอยางนั้น ก็แสดงว่าตัวผู้ประสบภัยก็จะพัฒนาการเช่นกันครับ