54 : บทความชุด "ผมกำลังจะกลายเป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วม" ตอนที่ 3/ ไม่รู้ว่าจะถึง 15 ตอนรึเปล่า @ 11 ตุลาคม 2554 ชื่อตอน "ผมกลายเป็นผู้อพยพไปซะแล้วครับ"

สวัสดีครับ เพื่อนๆ วันนี้ผมถูกอุ้มมาขึ้นข้างบนตั้งแต่ช่วงเช้านะครับ ก็เพราะว่า ไม่อยากเป็นภาระทางบ้าน หากมีปริมษรน้ำมามากแล้วก็เข้ามาในบ้านเนื่องจากตอนช่วงเช้านั้น ทางบ้านยังหาซื้อกระสอบทรายไม่ได้ ผมจึงไม่อยากเป็นภาระทุกคน ที่ต้องคอยเก็บข้าวของที่ยังเก็บไม่เรียบร้อยสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะตู้เย็นยักษ์ของที่บ้านน้องสาว พอขึ้นมาถึงชั้นบนของบ้านหลังที่ผมอยู่ ปรากฏว่า ร้อนพอสมควร และก็เห็นบรรยากาศรอบบ้านที่น้ำกำลังท่วมได้อย่างชัดเจน ญาติบอกผมว่า น้ำขึ้นสูงถึงเอว ใครๆ ก็ทิ้งบ้านไปหมดแล้ว ผมจึงให้ช่วยถ่ายภาพเพื่อนบ้านที่ติดกันมาให้ดู

ปรากฏว่า สิ่งของลอยตุ๊บป่องๆ มีคราบมันๆ ลอยล่อง กะละมัง ถัง ขวด ลอยเต็มไปหมด บ่งบอกให้รู้ว่าน่าจะทิ้งบ้านไปแล้วจริงๆ ทำให้ผมเซ็งมากๆ และยิ่งเซ็งมากกว่าเดิม ที่รู้ว่า ประธานฯ หมู่บ้าน บกกับลูกบ้านว่า ไม่กู้หมู่บ้าน ทำไม่ไหว ไม่มีปั๊มน้ำ มันทำให้ผมสะท้อนใจถึงความสามัคคีของชุมชน ทั้งๆ ที่หมู่บ้านจัดสรรนั้น กำแพงบ้านแต่ละหลังนั้นสามารถทำเป็นทำนบกั้นน้ำได้สบายๆ หากมีการจัดการให้ดี






ไม่นาน น้องสาว (ลูกพี่ลูกน้องอีกคน) ก็บอกว่า เรียกหน่วยกู้ภัยแล้ว ให้ผมไปอยู่ข้างนอกในที่ ที่ปลอดภัยดีกว่า เพราะว่าน้ำจะท่วมสูงกว่านี้อีก ตัวผมนั้นเบื้องต้นก็ลังเลใจ แต่ค่อนมาทาง "ไม่ไป" เพราะได้คุยกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งว่า น้ำน่าจะท่วมสูงสุดไม่เกิน 2 เมตร โดยดูจากความสูงเฉลี่ยของพื้นหมู่บ้าน จาก Google Earth แต่ด้วยความที่ว่า เกรงใจ จึงได้โทรหาพีเอ๋อ เพื่อช่วยเตรียมสถานที่ ที่ดอนเมืองให้ด้วย ผมจะขอไปทำงานที่นั่น เหตุผลสำคัญ คือ ที่ดอนเมืองมีอินเตอร์เน็ต ผมอยากทำงานอาสาช่วยผู้ประสบภัย ผมจึงตัดสินใจไปที่นั่นครับ

ระหว่างที่หน่วยกู้ภัย นนทบุรี พาผมออกไปนั่น ต้องบอกเลยว่า มีแต่คนมอง ผมต้องนั่งบนรถเข็นที่นั่งอยู่ท้ายกระบะอีกทีหนึ่ง ภาพที่ผมเห็นคือ น้ำขึ้สูงเมื่อคืน และยังสูงขึ้นเมื่อตอนเช้า ทุกคนดูจะวุานวาย อลหม่านไปหมด ผมจำภาพได้ดี ทำให้คิดไปถึงว่า ถ้ามีโอกาส อยากวาดภาพที่จดจำได้ในความทรงจำเอาไว้ด้วย เพราะว่าไม่มีโอกาสถ่ายภาพเอาไว้ แล้วผมก็มาถึงจุดพักชั่วคราว คือ โรงพยาบาลชลดา

คุณหมอพี (เจ้าของโรงพยาบาลชลดา) ต้อนรับอย่างดี มีผู้คนมากมายมาขอพักที่ รพ.ของหมอพี ก่อน แล้วจึงไปต่อ รอรถมารับ หรือเป็นจุดนัดพบของผู้ประสบภัยกับญาติ คุณหมอพี บอกผมว่า ทางโรงพยาบาลยินดีเป็นจุดพักของผู้ประสบภัย และผมเห็นบางกรณี ที่เป็นผู้สูงอายุมากๆ ก็เข้าพักในโรงพยาบาลชลดาเลย ซึ่งก็รวมถึงอาแหมะ (แปลภาษจีนแต้จิ๋วว่า แม่บุญธรรม ที่ในความเป็นจริงเป็นสะใภ้ที่แต่งกับคุณลุงผมเอง คือเป็นพี่ชายของคุณแม่ผมครับ ซึ่งภาษจีนเรียกว่า อาแปะ ครับ) และที่อาแหมะ ต้องพักที่โรงพยาบาล เลยก็เพราะว่า บ้านของอาแหมะ โดนน้ำท่วมหมดเลยครับ พี่สาวผม (ลูกพี่ลูกน้องที่รับสืบทอดมรดกตกทอดการทำขนมไหว้พระจันทร์สูตรในตระกูลที่หาทานได้มีแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ชื่อ "เปี๊ยะเค็มเล็ก" ที่ผมเคยเขียนบทความถึงในลิงก์นี้ครับ) จึงตัดสินใจให้พักที่โรงพยาบาลชลดาแทน





ทางโงพยาบาลดูแลผู้ประสบภัยดีมากๆ นะครับ แอบเชียร์ทุกคนว่า ที่ รพ.นี้ราคาไม่แพง สมัยก่อนเป็นคลีนิค ปัจจุบันพัฒนาเป็นโรงพยาบาล ที่เป็นระเบียบเรียบร้อย ผมเคยเข้ามานะครับ แต่ไม่เคยหยุดดูภายในโรงพยาบาล สมัยก่อนสัก 5 ปีได้ ผมทำงานหนัก นอนน้อย รู้สึกเพลีย จึงขอคุณหมอนอนให้น้ำเกลือ 1 คืน

เมื่อผมไปถึงดอนเมือง ก็ได้ห้องเพื่อทำงาน และอยู่อาศัย แล้วก็ได้ร่วมเข้าประชมกับคณะทำงานอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ น้ำท่วม ทำให้ได้เห็นคนใหม่ๆ ที่ตั้งใจทำงาน น่ารักบ้าง ตุ้ยนุ้ยบ้าง หล่อๆ บ้าง ขรึมๆ บางคนดูโหดเลย แต่สิ่งสำคัญ คือ ความเป็นอาสาที่ผมเห็น รู้สึกดี และประทับใจกับภาพรวมของทีมงาน

แต่ส่วนตัวผมนี่สิ ประเมินสถานการณ์ผิดพลาดที่จะมาอยู่ที่ดอนเมือง โดยไม่มีคนดูแลมาด้วย ผมจึงตัดสินใจกลับบ้านไปตั้งหลักใหม่ ถ้าจะมาอีกครั้งต้องเตรียมพร้อมมากกว่านี้ เพราะ "อาสา" คือคนที่จะมาช่วยคน ถ้าต้องมีคนมาช่วยตัวเรา เราก็ไม่ใช่อาสาแล้ว เราจะเป็น "ภาระ" การมาดอนเมืองเพียงไม่ก่ชั่วโมง ทำให้ผมได้หลายเรื่องในเวลาเดียวกัน ได้คิดมากขึ้น รู้สึกได้เลยว่า โตขึ้น รวมทั้งทำให้มีความตั้งใจบางอย่างที่จะพัฒนาตัวเองมากกว่านี้

ว่าแต่ว่า วันนี้ทั้งวัน ผมกลายเป็นผู้อพยพ 2 รอบเลยครับ คือ อพยพไปดอนเมือง แล้วก็อพยพกลับบ้าน (แอบบอกว่า ตอนเข้าบ้านตื่นเต้นมากครับ เพราะน้องคนสนิทของสามีน้องสาวผมเอง (งงๆ เรียกซะยากเลย) ขับรถกระบะลุยน้แบบท่อไอเสียจมน้ำ ลุ้นสุดๆ และก็เข้าบ้านอย่างทุลักทุเล เรียบร้อย เข้าถึงที่เตียง ตี 2 พอดิบพอดี)

ตอนที่ 4 มาต่อกันดีกว่าครับ ว่าพวกเราจะเตรียมการรับมือกับน้ำท่วมต่อไป อย่างไรดีครับ