27 : มุมมองที่แตกต่าง จากความรู้สึกในความเป็นผู้พิการ

สวัสดีครับ เพื่อนๆ ที่ติดตามอ่านบทความของผม คราวนี้ผมมีความคิดเห็นสำคัญมาลองแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ครับ แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นผมขอเกริ่นนำก่อนด้วย เมื่อวันเสาร์ที่ 19/4/2551 ผมได้มีโอกาสไปร่วมประชุมกลุ่มผู้พิการ เกี่ยวกับการพัฒนาสังคม จากผู้พิการเอง เพื่อผู้พิการ



เริ่มจากผมได้รับการขวนให้เข้าร่วมประชุมกลุ่ม จากคุณเอิร์ธ (กลุ่ม IL Bangkok) ซึ่งผมสนใจที่หัวข้อการประชุม และผู้พูดเป็นชาวต่างชาติ จากอังกฤษ (ชื่อคุณ Mark) เพราะผมอยากรู้ถึงมุมมองจากชาวต่างชาติ และข่าวสารของประเทศเขาครับ มีการประชุมที่พื้นที่และอาคารกลาง ของหมู่บ้านกฤษดานคร 10 มีเพื่อนเข้าร่วมประชุมประมาณ 15-17 คน และผมไปสายด้วยครับ
.
คุณมาร์ค ได้พยายามปลูกฝังแนวคิดให้ผู้พิการ รู้จักเปลี่ยวแนวคิดทางการแพทย์ (ที่เกี่ยวกับเรื่องของตัวเอง) ให้เป็นแนวคิดเชิงสังคม คือรู้จักปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม เพื่อการดำรงชีวิตของตนเอง จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในระดับสังคมต่อไป รวมถึง ได้พูดถึง อนุสัญญาฯ ระหว่างประเทศ ที่มีการลงนามครบทั้ง 20 ประเทศแล้ว รวมถึงประเทศไทยด้วย และปลูกฝังแนวคิดให้ผู้พิการควรจะดูแลผู้พิการเอง ไม่ใช่ให้คนปกติมาดูแล
.


จากนั้นช่วงบ่ายมีการทำ work shop แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือเล่นละคร และเขียนภาพ ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นเทคนิคที่ดี เพราะการเล่นละคร เหมาะกับคนที่กล้าแสดงออก ส่วนกลุ่มเขียนภาพเหมาะสำหรับคนที่ไม่ค่อยกล้าแสดงออก ซึ่งตัวผมเองก็ลังเลอยู่พอสมควร แต่ไม่ใช่ว่าจะอยู่กลุ่มไหนนะครับ ดูว่าผมควรจะไปช่วยกลุ่มไหนดี ผิดคาดครับมีคนไปรวมตัวที่แสดงละครมากที่สุด คือส่วนใหญ่เลย ผมจึงเลือกไปกลุ่มเขียนภาพ ซึ่งเป็นงานถนัดของผม


สรุปกันได้ว่า กลุ่มเขียนภาพเลือกที่จะตอบโจทย์หลายแนวทาง จากโจทย์ข้อเดียวกัน เพราะเวลาเหลือน้อยเต็มที่ เนื่องจากต้องทำความเข้าใจกับเพื่อนๆ ให้เข้าใจตรงกันก่อน ไม่อย่างนั้นก็จะไม่เกิดประโยชน์ในการประชุมกลุ่มแต่ในใจผมก็มีบางอย่างที่อาจจะเริ่มคิดแตกต่างบ้างครับ
.


จากนั้นก็เป็นการเริ่มแสดงละคร ซึ่งกล่าวถึง 2 เหตุการณ์ คือพ่อ-แม่-พี่ ไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานของลูกชายที่พิการกับแฟนที่เป็นคนปกติ ซึ่งเหตุการณ์แรกคือ ไม่ยอมให้อยู่ด้วยกัน แต่อีกเหตุการณ์ยังยินยอมให้อยู่ด้วยกันและอวยพรให้อดทนซึ่งกันและกัน มาถึงตรงนี้ก็เริ่มมีบางมุมที่ผมมองต่างมุม อีกเช่นกันครับ


และก็มาถึงกลุ่มที่วาดภาพที่อธิบายถึงคนพิการที่ตัวใหญ่ น้ำหนักมาก เมื่อไปถึงห้องเอ็กซ์เรย์ กลับไม่ได้รับบริการ เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่อุ้มขึ้นเตียง ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาเชิงการแพทย์ และสมาชิกกลุ่มตอนแรกก็มีมุมมองว่า ต้องมีเจ้าหน้าที่หลายคนมาอุ้มก็น่าจะดี ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นมุมมองเชิงการแพทย์เช่นกัน แต่หลังจากที่พวกเราได้รับคำแนะนำจากคุณมาร์ค และคุณเอิร์ธ ก็เริ่มเข้าใจมุมมองเชิงสังคม จึงร่วมกันเสนอแนวคิดแก้ไขเหตุการณ์ดังกล่าวเป็น 4 แนวทางคือ

  • เสนอว่าเตียงเอ็กซ์เรย์ควรปรับระดับได้ เพื่อให้สะดวกในการใช้บริการ
  • เสนอว่ารถเข็นของผู้พิการควรปรับเป็นเตียงได้ เพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้ายตัว
  • เสนอว่าควรใช้เครื่องเอ็กซ์เรย์แบบเคลื่อนที่ได้มาให้บริการ
  • เสนอว่าอาจจะมีเครื่องยกตัวผู้ป่วย เพื่อเข้าไปที่เตียงเอ็กซ์เรย์ได้

ต่อมาก็มีการพูดคุยสรุปประเด็นกัน มีการตอบคำถาม มอบของที่ระลึก และขอบคุณคุณมาร์คที่มาเป็นวิทยากรให้ทุกคน จากนั้นก็ออกไปถ่ายรูปกันที่ด้านนอก และก็แยกย้ายกันกลับ

มุมมองที่แตกต่างจากการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ คงเป็นเรื่องที่เป็นเรื่องเดียวกันกับแนวคิดที่ได้รับการปลูกฝังจากคำบอกเล่าของคุณมาร์ค หรือแม้แต่แนวคิดเกี่ยวกับการดำรงชีวิตอิสระ คือ

  • "ผู้พิการมีสิทธิเฉกเช่นคนปกติทั่วไป อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติ"
  • "ผู้พิการไม่ต้องการให้คนปกติ เวทนา สงสาร เห็นใจ จ้องมอง หรือแม้เป็นคนพิเศษ ในสายตา"
  • "ผู้พิการควรจะยอมรับตัวเอง และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเอง เพื่อการดำรงชีวิตอิสระในแบบที่เหมาะสมกับตัวเอง"
  • "ผู้พิการไม่ควรถูกแยกออกจากสังคม ควรอยู่ร่วมกับครอบครัว และสังคม กับคนปกติ"
  • "ผู้พิการควรได้รับโอกาสปกครอง ผู้พิการด้วยกันเอง เพราะน่าจะเข้าใจความพิการมากกว่าคนปกติ"

ผมก็เข้าใจและเคารพแนวคิดในลักษณะนี้อยู่แล้ว ในมุมมองคล้ายๆ กันนี้ ผมอยากจะขอลองนำเสนอแนวคิดส่วนตัวที่อาจจะดูคล้ายๆ แต่อาจจะมีความแตกต่างบ้างนิดหน่อยนะครับ คงเริ่มจากตัวอย่างของตัวผมเอง ที่ใช้ในชีวิตประจำวันครับ

  • หลังจากผมเริ่มเป็นผู้ทุพพลภาพ ผมอาจจะมองข้ามความพิการรุนแรงที่ผมเป็นไปเลยก็ว่าได้ เพราะการที่ร่างกายผมเป็นแบบนี้ เป็นเพียงอุปสรรคในชีวิตเรื่องหนึ่งเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเกิดอุบัติเหตุจนขาหัก ก็ถือได้ว่าเป็นผู้พิการชั่วคราว ก็ต้องมีข้อจำกัดเกี่ยวกับขาข้างหนึ่งสัก 2-3 เดือน เป็นต้น ซึ่งแสดงว่าผู้ป่วยก็ต้องรู้จักปรับเปลี่ยนการดำรงชีวิตใหม่ คือต้องหาวิธีการที่จะทำให้ตัวเองสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับรูปแบบเดิม ในระยะสั้นๆ ดังนั้นผู้พิการรุนแรง ภายหลังอย่างผม ก็เพียงแต่ปรับความคิดว่า เรามีข้อจำกัดเพิ่มขึ้น (ซึ่งอาจจะมากๆ สักหน่อย) และไม่ใช่ระยะเวลาสั้น แต่มันนานถึงตลอดชีวิตที่เหลือ ก็เท่านั้น
  • จากนั้นเมื่อคิดได้ และดำรงชีวิตได้ ก็ถึงเรื่องทำงาน ตลอดเวลาที่ผมเป็นผู้ทุพพลภาพผมทำงานตลอด ผมมักได้ยินคำพูดของลูกค้าบ่อยๆ ที่ทราบเรื่องผมทีหลังว่าเป็นผู้ทุพพลภาพ เช่น "คุณปรีดา ไม่เคยมาเยี่ยมสำนักงานผมเลย ผมอยากพบคุณปรีดา" จนผมต้องบอก ลูกค้าเข้าใจและขอมาเยี่ยม หรือมาพบเองที่สำนักงาน และมักพูดทุกคนว่า "ร่วมงานกับคุณปรีดา คิดว่าเป็นคนปกติ ไม่คิดว่าพิการ เพราะผลงานหรืองานที่ทำก็ปกติ และดีกว่าบริษัทอื่น พูดคุยด้วยก็ไม่ได้สังเกตุอะไรได้เลยว่าเป็นผู้ป่วย" และผมก็มักพูดบ่อยๆ ว่า "ผมปกติดี ป่วยเพราะอุบัติเหตุ ร่างกานยและจิตใจแข็งแรงดีเหมือนคนทั่วๆ ไปครับ ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรกับการทำงาน"
  • โดยส่วนตัวแล้ว เป็นเพราะว่าผมมีแนวความคิดส่วนตัวว่า
  • ผมไม่อยากบอกว่าตัวผมพิการ เพราะทันทีที่ลูกค้าทราบ อาจตีค่า ความสามารถของผมต่ำทันที ทำให้ผมหมดโอกาสได้แสดงความสามารถ
  • แต่เมื่อผมได้แสดงความสามารถแล้ว ผมเต็มใจที่จะบอกลูกค้า เพื่อสร้างความประหลาดใจว่าคนพิการสามารถทำได้ และทำได้ดีกว่าอีกหลายๆ บริษัท เพราะผมชอบคำว่า "คุณภาพ"
  • ผมไม่ชอบมุมมอง หรือทัศนคติที่ คนทั่วไปจะมองว่าผู้พิการนั้นด้อยประสิทธิภาพในการทำงาน เพราะช่วงต้นๆ ของการเป็นผู้ทุพพลภาพ ผมต้องผ่านความรู้สึกแบบนี้ตลอด จนเกิดแรงผลักดันมากมายในการทำงาน
  • ผมคิดว่า ผมมีความสามารถ ผมแค่ทำงานมากกว่าเดิม หาเครื่องมือชดเชยกับสิ่งที่ขาดไป และต้องทำให้ได้เท่าเดิมหรือดีกว่า และไม่ต้องการสิทธิพิเศษอะไร เพียงแต่ต้องปิดบังข้อมูลช่วงแรกๆ เพื่อทำให้มีโอกาสเหมือนคนปกติ
  • บางครั้งผมยังลืมตัว กลับมองสงสาร อยากช่วยคนพิการคนอื่น แสดงว่าผมคิดว่าผมปกติดี (แต่เดี๋ยวนี้ผมเปลี่ยนทัศนคตินี้แล้วนะครับ)

หลังการประชุมกลุ่ม ผมเห็นด้วยกับแนวคิดที่ผู้พิการควรอยู่ร่วมในครอบครัว และสังคม เช่นเดียวกับที่ผมดำเนินชีวิตอยู่ รวมทั้งถ้าเป็นไปได้ ณ ตอนนี้ เวลานี้ ถ้าผู้พิการที่พอมีอำนาจในระดับสูง สามารถปรับเปลี่ยน หรือเปลี่ยนแปลง หรือผลักดัน เรื่องบางอย่างได้ ก็ควรทำ เช่น นำตัวละครไปแทรกในบทเรียน ที่อาจทำให้เด็กยุคใหม่มีมุมมองว่า คนพิการ เป็นคนปกติ อยู่ร่วมกันในสังคมได้ฉันท์เพื่อน ไม่ด้อยค่า ด้อยประสิทธิภาพอะไร จากนั้นเด็กๆ เหล่านี้ก็จะโตขึ้น และมองการอยู่ร่วมกันของผู้พิการในสังคม เป็นเรื่องปกติ

แต่ผมกลับมีมุมมองที่ต่างกันเรื่อง การที่ผู้พิการรวมตัวกันที่จะเรียกร้องสิทธิ์ต่างๆ อย่างเอาเป็นเอาตาย เพราะผมกลับเห็นว่า สังคมไทย เป็นสังคมที่ต่างจากประเทศอื่น ผมไม่ได้รู้สึกว่าผมถูกสังคมเอาเปรียบอะไร เพราะผมอาจจะชดเชยสิ่งเหล่านั้นได้ ควรเรียกร้องแต่พอดี แต่ควรไปปรับที่แนวคิดให้คนรุ่นใหม่ดีกว่า เพราะ "ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก"

ยิ่งผู้พิการรวมตัวมากเท่าไหร่ ยิ่งกลุ่มผู้พิการเข้มแข็งมากเท่าไหร่ สังคมยิ่งมองผู้พิการเป็นกลุ่มๆ หนึ่งไปตลอด และผมยังคิดต่อไปอีกว่า "ผู้พิการไม่ใช่คนดีเสมอไป ผมหมายถึงบางคนอาจมีนิสัยส่วนตัวไม่ดี" ซึ่งอาจทำให้สังคมก็มองภาพรวมว่า ผู้พิการมีปัญหา เป็นตัวปัญหา บกพร่อง ดังนั้นถ้าตัวผู้นำกลุ่มคนพิการพยายามมากเท่าไหร่ เพื่อจะให้คนในสังคมคิดว่า "ผู้พิการเป็นคนปกติ" ผมกลับมองว่ายิ่งจะทำให้ถูกมองแยกออกไปจากสังคม มากขึ้นเรื่อยๆ

ขอย้ำอีกทีว่า เป็นความคิดของผมคนเดียวเท่านั้นนะครับ

จริงๆ แล้ว เรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อนครับ ผมอาจจะยังอธิบายไม่ดีเท่าที่ควร ผมอาจจะขอเรียบเรียงแนวคิด และภาษาใหม่ ผมอาจต้องอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อจะได้เขียนบทความที่เข้าท่ากว่านี้ครับ

บทความนี้ยาวมากแล้ว คงต้องจบลงแค่นี้ก่อนนะครับ

ขอบคุณครับ

ปรยา 23/4/2551