สวัสดีครับทุกคน ครั้งนี้ผมขอนำบทความเก่าที่ต่อเนื่องมาให้ดูกัน เป็นบทความที่เคยเขียนใน winbookclub.com
02/02/2007
ต่อจากตอน 1 ครับ จบ ร.ด. มาแล้ว 7 ปีผ่านไป ก็มีเอกสารมาจากสัสดีอำเภอครับผมก็ไม่คิดอะไรหรอกครับ ไปรายงานตัว สัสดีบอกว่า ลงทะเบียนเฉยๆ ไม่มีอะไร
ผมเล่าให้เพื่อนฟัง มันบอกผมว่าโง่ ไปรายงานตัวทำไม เดี๋ยวก็มีหมายมาเรียกฝึกทหารหรอก แต่ผมก็เฉยๆ นะครับ ถ้าเรียกมาก็ไป เพราะพี่ชายผมก็โดนเรียกฝึกเหมือนกัน
ตามนั้นเลยครับ อีก 1 ปี ก็ถูกหมายเรียก ให้เข้ารับการฝึกกำลังพลสำรองที่ ประจวบคีรีขันธ์ ค่ายสุริโยทัย ใกล้ๆ ค่ายธนรัชต์
ทุกคนต้องไปรายงานตัวที่ มณฑลจังหวัดกรุงเทพ ปรากฎว่าไปรายงานตัวแค่30% เท่านั้น ทำให้แผนการฝึกที่ทางกรมฯ วางแผนไว้มีปัญหา เนื่องจากมีความจำเป็นต้องใช้คนในจำนวนมากเพื่อฝึกภาคกองร้อย ทางครูฝึกจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการนำทหารเกณฑ์เข้ามาผสมด้วย
วันแรกมีการปฐมนิเทศน์ เสธ.ให้กำลังใจด้วยว่า พวกท่านที่มาในที่นี้ ถ้ามาติดต่อกัน3 ปี นอกจากจะได้ปลดประจำการแล้ว ถ้าเกิดปัญหาในทางคดี ก็ถือว่านำความดีที่มารับใช้ชาติคราวหน้าเป็นสิ่งยืนยันถึงความเป็นพลเมืองได้อีกทางหนึ่งได้ เพราะแสดงถึงการเป็นประชาชนที่มีระเบียบ มีความรับผิดชอบต่อสังคม และต่อตนเองซึ่งอาจช่วยได้ หรืออย่างน้อยก็ให้หนักเป็นเบาได้
จากนั้นก็มีอีกหลายขั้นตอน จนถึงการแบ่งกำลังพล ซึ่งพวกเราไม่มีสิทธิ์เลือกหน่วยเลย แล้วแต่ผู้บังคับบัญชา ผมถูกเลือกไปอยู่ฝ่ายสนับสนุนการรบ หรือ สสก.ด้านโยธา ทำอะไรบ้างเหรอครับ ก็ด้านโยธาจริงๆ เลยครับ
ขุดหลุมทุกประเภทครับ ตั้งแต่หลุมบุคคลเดี่ยว คู่ ปืนกล วางสิ่งกีดขวางในการฝึกให้กับทหารหน่วยอื่น เมื่อถึงวันฝึกภาคสนาม ก็ต้องทำห้องส้วมให้ผู้บังคับกองร้อยครับ ส่วนที่พักของทั้งกองร้อย ใกล้บึง ต้องทำที่พักยื่นออกไป คล้ายท่าน้ำเพื่อให้เพื่อนๆ อาบน้ำสะดวก
มาถึงที่พักของพวกโยธาอย่างเรา ซึ่งมีกันแค่ 9 คนเอง ก็ช่วยกันทำเต๊นท์ บนเงื่อนไข1 คน มีอุปกรณ์ 1/2 เต็นท์ กลุ่มอื่นๆ ส่วนใหญ่จะตั้งเต๊นท์ในพื้นที่ราบ ง่ายๆ แต่พวกเราตั้งกลุ่มเต๊นท์ในพื้นที่เอียงนิดหน่อย สูงกว่าพื้นที่กลุ่มอื่น เพื่อให้ไม่เกิดปัญหาเวลาฝนตก และรอบๆ ผ้าใบของเต๊นท์ก็นำทรายและดินมากลบให้กลืนกันไป เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษ เช่น มด งู แมลงมีพิษ คลานหรือเลื้อยเข้ามา
พวกเราเลือกพื้นที่ ที่ด้านบนมีพืชประเภทหนามปกคลุมหนาแน่น เป็นไม้เลื้อยมีหนามแหลมคม และฟันให้สูงจากพื้นประมาณ 2.5 เมตร เพื่อเข้า-ออกสะดวก ด้านบนมีต้นไม้ปกคลุม ทำให้เวลาฝนตก พื้นที่ของพวกเราจะไม่โดนฝนหนักเหมือนกลุ่มอื่น
พวกเราทำเต๊นท์เป็น 3 เต็นท์ คือสำหรับ 2 คน 2 หลัง และสำหรับ 5 คน 1 หลังเพื่อให้หลังใหญ่สุดไว้เก็บอุปกรณ์-เครื่องมือ ที่ใช้ในการฝึก โดยให้เต๊นท์หันหน้าเข้าหากัน เพื่อเวลาพักในเต๊นท์จะได้ปรึกษากันได้
ด้านหน้าเต๊นท์จะขุดร่องน้ำ กว้าง 1 คืบ ลึก 1/2 คืบ ห่างหน้าเต๊นท์ 1 คืบ เพื่อให้เวลาฝนตกน้ำจะไหลผ่านร่องน้ำไป ทำให้ไม่เลอะเทอะ ส่วนชายเต๊นท์ทั้ง 3 ด้านเราเอาดินคลุมอยู่แล้วจึงไม่มีปัญหาอะไร และร่องน้ำนี้ ยังช่วยให้งูที่เลื้อยผ่าน ด้านหน้าจะเลื้อยไปตามร่องด้วย
ห่างจากกลุ่มเต๊นท์ ไป 3 เมตร เราถางพื้นให้เรียบประมาณ 9 ตารางเมตร ตรงกลางขุดหลุม และนำหินมาวางรอบๆ เพื่อไว้หุง-ต้ม อาหาร และหากิ่งไม้ มาทำที่วางภาชนะ
ห่างไปอีก 3 เมตรใกล้ทาง เข้า-ออก พวกเราทำหลุมขยะ เพื่อทิ้งเศษอาหาร และกลบเป็นชั้นๆ โดยเตรียมดินกองไว้ใกล้ๆ สำคัญมาก เพราะกลิ่น-เศษอาหารทำให้สกปรกและอาจมีสัตว์ต่างๆ มาแวะเวียน กลุ่มอื่นโดนงูกัดด้วย
พวกเราถูกกลุ่มอื่น แซวว่าโอเวอร์ แต่ตลอด 10 วันที่เราอยู่ในป่าที่ฝึกภาคสนามครูฝึกมักจะมานั่งกินกาแฟ พักผ่อน เป็นประจำทุกคืน ทำให้ได้รับฟังประสบการณ์ของท่าน เพื่อนๆ ก็มาขอหลบพักผ่อน เวลาฝนตกหนัก
ที่นี่เวลาเหนื่อยจากการฝึก พวกเราจะรู้สึกเหมือนบ้าน มีความสุขมากเมื่อพักผ่อนครูฝึกและผู้บังคับบัญชา จะชมว่าสมกับเป็นโยธาจริงๆ
ในการฝึก ก่อนออกภาคสนาม เราได้ฝึกการเก็บกู้-วางระเบิด TNT จากของจริงซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากๆ ทำให้ผมเข้าใจเหตุการณ์ในทีวีช่วงเวลานี้และได้นำไปใช้ตอนฝึกภาคสนามเพื่อให้เกิดระเบิด ตอนเข้าตีข้าศึก
และตอนฝึกภาคสนาม ยังต้องปลอมเป็นศัตรู เพื่อยิงปืนกลชุดสร้างสถานการณ์ผมยิงไปเกือบ 500 นัด เข้าภูเขา วางสิ่งกีดขวางให้เข้าตียาก
ที่นี่ทำให้ผมมีประสบการณ์อันมีค่ามากมาย ผมเสียดายแทนคนที่ไม่ได้มา
ที่นี่ผมได้พบเพื่อนทุกชนชั้น ตั้งแต่คนเก็บขยะ ถึงผู้จัดการ และเจ้าของกิจการที่นี่ผมพบเพื่อนสมัยมัธยม และมหาวิทยาลัยด้วย และบังเอิญมากที่เพื่อนมัธยมห้องเดียวกันมาอยู่หมวดโยธาเหมือนกัน
ยาวแล้วครับ ขอบคุณทุกคนที่อ่านชีวิตสีเขียว 2 ของผม
ขอบคุณประสบการณ์อันมีค่า จริงๆ อยากเล่ามากกว่านี้ โอกาสหน้าจะนำภาพมาประกอบด้วยครับ
ขอบคุณครับ
ปรีดา ลิ้มนนทกุล
mobile : 089-6910225
email : preeda.limnontakul@gmail.com
update : Aug 22, 2007