๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐: บทความรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย: ตอนที่ ๔




บทความรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย
๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐
ตอนที่ ๔: ใช้ชีวิต ทำงาน บนความเพียร เพราะปฏิบัติและน้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นหลักปฏิบัติ

ผมเคยถามตัวเองบ่อยๆ สมัยเรียนมัธยมจนถึงมหาวิทยาลัยว่า ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็น ทำไมถึงยังทำอยู่ โดยเฉพาะการทำงาน ผมจำได้ว่า ผมนัดลูกค้าคุยงานถึง ๔ โมงเย็น ผมทำรายงานประจำวัน ประจำเดือน ส่งผู้จัดการ สิ่งที่เขียนในบันทึก มาจากความเป็นจริงที่คิดและเขียน ตั้งใจจะทำตามสิ่งที่เขียนให้ได้มากที่สุด ผลลัพธ์ที่ได้คือ ยอดขาย ที่มีผลกำไรเป็นตัวตั้ง เพราะอาชีพวิศวกรขาย สำหรับผมแล้ว อยู่ที่ "ผลกำไร" ไม่ใช่ "ยอดขาย" หลังรถคว่ำจนเป็นคนพิการรุนแรงทุพพลภาพ ผมยังคงทำงานบนเตียง ถึงแม้ว่าจะมีหลายงานที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังคงต้องทำอยู่ หลายงานมีแรงเสียดทานจากคนรอบข้าง จากสังคม ก็ยังคงต้องทำอยู่ 

สำหรับผม เกิดมาอยู่ในรัชกาลที่ ๙ พระราชดำรัส พระบรมราโชวาท อยู่ทุกหนแห่ง ได้ยินจากจอทีวีบ่อยๆ รุ่นคุณพ่อคุณแม่ของเรา ก็ได้ยินได้ฟังมา ผมเชื่อโดยส่วนตัวว่า "สารจากพระองค์ท่าน" สื่อออกมาจากหลายแหล่ง ขึ้นอยู่กับผู้รับสาร ว่าจะนำสิ่งดีๆ จาก พระราชดำรัส พระบรมราโชวาท ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาปรับใช้หรือไม่ แต่สำหรับผม หลายๆ เรื่อง ผมก็ปฏิบัติตามอาม้า (คุณแม่) ของผม แม้ว่าบางเรื่องจะเห็นต่าง จนเคยพูดคุยกันเฉพาะในพี่น้อง ๓ คนว่า "เรื่องไหนที่ไม่เห็นด้วยกับอาม้า ให้ทำตามก่อน เพราะเด็กดีต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ เมื่อโตขึ้นแล้วดูแลตัวเองได้ มีครอบครัวแล้ว ก็อย่าทำเรื่องนั้นเสียเอง" แต่เรื่องที่ไม่เคยห่างหายไปจากสายตาและความรู้สึกของผมเลย คือ "ความเพียร" ผมเห็นอาม้า ทำงานหนักทุกวัน ผมจะพยายามแบ่งแบาภาระของอาม้า ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ช่วยทำงาน ถูบ้าน ล้าจาน ขายของ ซึ่งเป็นงานที่ผมชอบมาก ผมช่วยอาม้าประหยัดด้วยการ ไม่นำเงินไปซื้อของเล่น จึงทำให้ต้องทำของเล่นเอง ผมพยายามใส่เสื้อผ้านักเรียนให้คุ้มค่าที่สุด ปะตรงไหนก็ยังใช้อยู่ รองเท้าใช้จนพื้นขาด กระเป๋าหนังสือและเข็มขัดไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่ ป.๕ ถึง ม.๖ ตลอด ๘ ปี ผมพยายามสอบมหาวิทยาลัยให้ติดเพราะไม่อยากให้อาม้าเสียเงินมากๆ เข้าเรียนเอกชน เป็นเพราะว่า เห็นอาม้าลำบาก ทำงานหนักทุกๆ วัน การทำงานหนักไม่ลดละ ทุกๆ วัน ทำให้ผมซึมซับ ความอดทน ความพยายาม ของอาม้ามาเต็มหัวใจ จนมาทำงาน รอบๆ ตัว ไม่ใช่แค่เพียงในครอบครัวแล้ว มีหลายเรื่องที่ผมคิดถึงในระดับประเทศ ทำให้ พระราชดำรัส พระบรมราโชวาท ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เข้ามามีบทบาทกับตัวผมมากขึ้น ผมจึงขอนำพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาท ที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาแบ่งปันผู้อ่าน ดังนี้


“...... การทำงานใดๆ ไม่ว่า เล็ก ใหญ่ ง่าย ยาก ถ้าย่อหย่อนจากความเพียรแล้ว ยากที่จะทำให้สำเร็จเรียบร้อยทันเวลาได้ การฝึกฝนความเพียร ถึงหากแรกๆ จะรู้สึกเหนื่อยลำบาก แต่พอได้เพียรจนเป็นนิสัยแล้ว ก็จะกลับเป็นพลังสำคัญที่คอยกระตุ้นเตือนให้ทำงานอย่างจริงจัง ด้วยใจร่าเริง และเมื่อใดพลังของความเพียรนั้นเกิดขึ้น เมื่อนั้นการงานทั้งหลายก็สำเร็จได้โดยง่ายและรวดเร็ว..... พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๒

ผมคิดว่า "ความเพียร" เป็นพื้นฐานสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ผมมีในตัว ยิ่งเป็นคนพิการรุนแรง ยิ่งขี้เกียจไม่ได้ ยิ่งต้องทำงานหนัก แน่นอนว่า ความเพียร เป็นสิ่งสำคัญ  


ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้ ผมทำงานแบบไม่แสวงกำไรแล้ว หรือไม่ได้คำนึงถึง ยอดขาย หรือ ผมกำไร แล้วก็ตาม แต่การทำงานยังคงต้องใช้ "ความเพียร" เช่นเดิม ส่วนตัวคิดว่าต้องใช้ความเพียร มากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากงานไม่แสวงกำไร คนส่วนใหญ่ไม่ทำกัน จึงมีคำถามมาที่ผมตลอดเวลา ว่าทำไปทำไม ผมจึงต้องใช้ความเพียร เพื่อพิสูจน์การกระทำต่อไป 

การทำสิ่งใหม่ การที่ต้องต่อสู้กับแรงเสียดทานที่เราทำนั้น ผมมีกำลังใจเต็มเปี่ยม และผมมีตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมจากการทรงงานอย่างหนักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น ไม่ว่าผมจะพบเจออุปสรรคใดๆ ในชีวิต จึงเป็นเรื่องเล็กน้อย และเป็นธรรมดา ไม่น่าตระหนกใดๆ

ผมขอขอบพระคุณบุพการี ครอบครัว คนรอบข้าง ที่เกื้อหนุนให้คนพิการรุนแรงอย่างผมมีความพร้อมที่จะทำงาน ขอบพระคุณครูบาอาจารย์ ผู้เกี่ยวข้องที่ได้ให้ประสบการณ์และสอนวิชาการต่างๆ และผมสำนึกในพระเมตตาที่ได้พระราชทานหลักปฏิบัติต่างๆ ไว้ให้คนไทยทั้งประเทศ

ขอน้อมเกล้าฯ ถวายอาลัย ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า นายปรีดา ลิ้มนนทกุล

อ้างอิงข้อมูลประกอบการเขียนบทความ
๑.      การใช้ถ้อยคำแสดงความอาลัยในกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสู่สวรรคต, เว็บไซต์ http://themomentum.co/momentum-feature-thai-royal-language, เมื่อ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙
๒.      พระราชดำรัสด้านเศรษฐกิจพอเพียง, เว็บไซต์https://sites.google.com/site/ningzaonline3/kh-wikheraah-phra-rach-daras-phra-rach-krniykic/phra-rach-daras-dan-sersthkic-phx-pheiyng, เมื่อ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙

๓.      เครดิตภาพจาก Facebook
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
๑.      ข้อมูลส่วนตัวของผู้เขียน นายปรีดา ลิ้มนนทกุลเว็บไซต์http://preedatracking.blogspot.com/, เมื่อ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙
๒.      ข้อมูลบริษัท พีดับบลิวดี เอาท์ซอส เมเนจเมนท์ จำกัดเว็บไซต์http://pwdoutsourcemanagement.blogspot.com/, เมื่อ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙