86 : บทความชุด “ผมกำลังจะกลายเป็นผู้ประสบภัย” ตอนที่ 35 @ 30 ตุลาคม 2554 ชื่อตอน "น้ำประปา VS น้ำท่วม ถ้าเป็นพวกกันแล้วจะเป็นอย่างไร"

สวัสดีครับเพื่อนๆ วันนี้ผมเอาเรื่องน้ำประปามาพิมพ์เป็นบทความให้อ่านกันนะครับ ถ้าเพื่อนๆ จำได้ จะมีข่าวหนักๆ เรื่อง น้ำประปา ที่ออกมาจากสำนักงานประปามหาสวัสดิ์ ที่ดูแลพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ น่าจะครอบคลุมพื้นที่ นนทบุรี ปทุมธานี บางส่วน นครปฐม สุพรรณบุรี (เท็จจริงอย่างไร ผมอาจจะรู้ไม่ทั้งหมดนะครับ แต่ที่แน่ๆ คือ ผมอยู่บางบัวทอง ต้องใช้น้ำจากประปามหาสวัสดิ์แน่นอนครับ) นั้นมีสีชาๆ อาบแล้วคัน น่าจะช่วงวันที่ 26-28 ตุลาคม 2554 นี้ละครับ และแน่นอนว่าต้องส่งผลกระทบในวงกว้างแน่นอน

ผมจำได้มีผู้ประสบภัยที่ผมโทรไปคุยด้วยเพื่อบันทึกข้อมูลในระบบของ Form.Thaiflood.com ครอบครัวนี้เดือดร้อนเพราะไม่มีน้ำประปา อยู่ท้ายซอย ไม่มีใครเข้ามาเลย อยู่ได้มาสัก 1 อาทิตย์ มีไฟฟ้า มีน้ำประทา เลยไม่เดือดร้อน พอน้ำประปามหาสวัสดิ์มีปัญหา คราวนี้เดือดร้อนเลยครับ เพราะไม่มีน้ำดื่ม ใกล้ตัวเข้ามาหน่อย ผมมีพี่สาว (ลูกพี่ลูกน้อง) เป็นน้ำเหลืองไม่ดี อาบน้ำไม่ได้เลยครับ คันและแพ้มา ตัวเห่อ จึงต้องอพยพออกมาเลย ส่วนทางผมใช้วิธีหยุดใช้ชั่วคราว เพราะมีน้ำสำรอง ส่วนน้ำดื่มเรามีสำรองเป็นถังแกลลอน 20 ลิตร จำนวน 7 ถัง และตลอดเวลาที่น้ำประปายังไม่มีปัญหา จะต้มน้ำดื่มกรอกใส่ขวดไว้ทุกวัน

ช่วงที่น้ำประปามีปัญหา ถ่ายภาพไว้ครับ

ภาพนี้อีก 4 วันต่อมา ใสแล้วครับ

ชั่วโมงนี้ คนไทยในประเทศ ต้องอยู่ร่วมกันแบบไว้วางใจ ที่ให้แต่ละฝ่ายทำหน้าที่ของตัวเอง เช่น การประปาเราก็คงต้องไว้วางใจว่า เขาได้พยายามแล้ว และเมื่อเกิดปัญหา เขาก็จะเร่งที่จะแก้ปัญหา อย่างแน่นอน แต่ว่าถ้าไว้วางใจนักการเมือง อาจจะต้องดูเป็นคนๆ ไปนะครับ




3 ภาพบนนี้ ผมแค่เอาตัวอย่าง ถังน้ำประปาสำรองที่มีประจำทุกบ้าน มาให้ดูครับ ผมคิดว่าคำว่า "สำรอง" ตั้งแต่นี้ต่อไปจะมีความสำคัญ และมีบทบาทมากขึ้นทุกทีครับ บ้านสำรอง น้ำสำรอง เงินสำรอง น้ำมันสำรอง อาหารสำรอง น้ำดื่มสำรอง สิ่งของอุปกรณ์สำรอง แบตเตอรี่สำรอง เป็นต้นนะครับ

สำหรับตอนต่อไปมีนักข่าวจาก Spring News มาเยี่ยมที่บ้านนะครับ มาสัมภาษณ์ประเด็นของการที่ครอบครัวผมยังตัดสินใจป้องกันน้ำท่วม และอยู่ร่วมกับน้ำท่วม ว่ามีวิธีคิดอย่างไร และมีวิธีการอย่างไร ตามอ่านกันนะครับ